รับชมวีดิทัศน์

https://www.youtube.com/watch?v=7gaYdDh4Oho

งานพวกนี้นอกจากเราจะทำเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมทางด้านสถาปัตยกรรมไทยแล้ว ยังเป็นบทเรียนให้ลูกศิษย์ได้เรียน และเป็นถาวรวัตถุ ซึ่งไม่มีอาชีพไหนที่จะมีผลงานยั่งยืนเท่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้นในการทำงานก็ยังจะต้องเป็นอาจารย์ผู้สอนประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ลูกศิษย์ต่อไป จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ตายจากกันโน่นแหละ…

รองศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ สุวรรณคีรี

งานสถาปัตยกรรมไทยคือหนึ่งในมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ เพราะเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพชนมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม ตึกรามบ้านช่อง บ้านเรือนไทย สถาปัตยกรรมไทยมิได้มีเพียงแค่ความสวยงามวิจิตรของศิลปะไทยหรือเพื่อสืบทอดศาสนาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างอาคารที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นโดยมีความสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ สุวรรณคีรี สถาปนิกและศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) มีผลงานที่ได้รับการยอมรับในแวดวงสถาปัตยกรรมไทยและเป็นผู้สร้างหลักสูตรสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทยขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรมไทยไว้มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การบูรณะหอประชุมใหญ่ การสร้างเรือนไทยหมู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระบรมราชานุสรณ์ 2 รัชกาลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระอุโบสถที่วัดไทยลุมพินีมหา-วิหาร ประเทศเนปาล การออกแบบเจดีย์จุฬามณีที่อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ เป็นต้น อาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี ถือเป็นสถาปนิกและศิลปินที่อุทิศตนให้กับงานทางด้านสถาปัตยกรรมไทยมาอย่างยาวนาน เป็นทั้งผู้อนุรักษ์ สร้างสรรค์และถ่ายทอดวิชาการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นปูชนียบุคคลที่สร้างชื่อเสียงและมีคุณูปการให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสังคมอย่างแท้จริง

สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจหลักในการส่งเสริม อนุรักษ์และเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบุคคลผู้เป็นประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปิน“รองศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ สุวรรณคีรี” สืบ สร้าง สอน ขึ้นเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานสำคัญของท่าน อีกทั้งนิทรรศการนี้แสดงศาสตร์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมไทยเป็นข้อมูลทางการศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษาให้กับสาธารณชนได้รับรู้อย่างกว้างขวาง