จุฬาฯ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในพุทธศักราช 2475 นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งผู้มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา ตระหนักถึงการดำเนินงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังกัดกรมมหาวิทยาลัย กระทรวงธรรมการที่จะดำเนินการให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างกว้างขวางขึ้น

ในปีพุทธศักราช 2474 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “คณะกรรมการดำริรูปการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อพิจารณาดำเนินการให้บังเกิดผล คณะกรรมการชุดนี้ได้นำแนวพระราชดำริ แนวพระดำริ และแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมาพิจารณา หากแต่คณะกรรมการดำริรูปการนี้ยังมิทันได้ตัดสินใจหรือดำเนินการอย่างไรก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ต่อมา ในเดือนสิงหาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “สภาศึกษา” ตามที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษา โดยมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาดำริจัดวางการศึกษาของชาติ โดยมีคณะกรรมการชุดแรก ประกอบด้วย
1.เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
2.พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ
3.พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน)
4.พระยาประมวญวิชาพูล (วงศ์ บุญ-หลง)
5.หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร
6.พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ)
7.พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน)
8.พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ (เรี่ยม ทรรทรานนท์)
9.พระวิทยาสารรณยุทธ (หยัด เวมลาน์)
10.พระเสนอพจนพากย์ (เสนอ รักเลียม)
11.หลวงปราโมทย์จรรยาวิภาช (ปราโมทย์ จันทวิมล)
12.หลวงกีรติวิทโยฬาร (กี่ กีรติวิทโยฬาร)
13.หลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันท์)
14.หลวงศิริพุฑฒิศาสตร์พิทย
15.นายเย็น สุนทรวิจารณ

สภาศึกษาได้มีข้อเสนอแนะต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า “ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็แนะนำว่า ควรมีคณะวิชาปริญญาดังนี้ คือ คณะแพทยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะนีติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ส่วนการสอนแผนกอื่นๆ นั้น ควรจัดเป็นชั้นประกาศนียบัตรไปพลางก่อน กับแนะนำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์จ้างศาสตราจารย์ต่างประเทศ คือศาสตราจารย์วิศวกรรมเครื่องกลและศาสตราจารย์วิศวกรรมไฟฟ้า และแนะนำให้ขยายโรงงานและซื้อเครื่องทดลองอีกบางอย่าง”

จากข้อเสนอแนะของสภาการศึกษา จึงมีการเปิดสอนถึงชั้นปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ รับโรงเรียนสถาปัตยกรรมของโรงเรียนเพาะช่างมาสมทบ และยกขึ้นเป็นแผนกอิสระในเวลาต่อมา ในพุทธศักราช 2476 รับโอนโรงเรียนกฎหมายมารวมกับคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ตั้งเป็นคณะนีติศาสตร์และรัฐศาสตร์ แล้วจึงโอนไปตั้งเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองใน พ.ศ. 2477 ส่วนคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้น ได้เปิดสอนชั้นปริญญาอักษรศาสตร์และปริญญาวิทยาศาสตร์

ในที่สุด จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2477 เป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินงานมหาวิทยาลัย

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ