สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในอภิลักขิตสมัย 120 ปีนับแต่วันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 21 ตุลาคม 2443 – 2563 ขอน้อมระลึกพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับตั้งแต่ยังทรงพระราชอิสริยยศเป็นหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา พระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภายหลังทรงหมั้น สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ซึ่งในขณะนั้นทรงเป็นอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทางวิชาการ และถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับนิสิตอย่างเต็มพระกำลัง จึงทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและพระปัญญาอย่างยิ่งต่องานที่ทรงปฏิบัติ ความข้อนี้ หม่อมสังวาลย์ได้ทราบเป็นอย่างดี และมีปณิธานเดียวกันในการทำประโยชน์ต่อชาติผ่านการศึกษา จึงได้สนับสนุนในกิจการต่าง ๆ เสมอมา ดังที่นายแพทย์ เอ จี เอลลิส อธิการบดีคนแรกของจุฬาฯ ได้บันทึกไว้ว่า “หม่อมของพระองค์ (คือสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช) ไม่เพียงแต่เป็นผู้คล้อยตามหรือเป็นผู้ที่ช่วยเหลืออย่างดีที่สุดในพระดำริเรื่องการศึกษา และการบริจาคทรัพย์เท่านั้น แต่ได้เป็นผู้ต้นคิดด้วย”
หากแต่พระพลานามัยของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ไม่สามารถทนทานต่อพระโรคที่ทรงเป็นอยู่ได้ จึงสิ้นพระชนม์ก่อนเวลาอันควร หากแต่พระปณิธานในการบำรุงวิชาการของมหาวิทยาลัยที่ทรงผูกพันก็ได้รับการสืบสาน โดยหม่อมสังวาลย์ได้มอบเงิน 200,000 บาท เป็นทุนศึกษาวิทยาศาสตร์ และ 500,000 บาท สำหรับวิชาแพทย์และพยาบาล ตามพระพินัยกรรมที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ทรงตั้งพระทัยไว้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตั้งเป็นทุนสำหรับเก็บดอกผลส่งนิสิตไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ ต่อมาได้โอนทุนนี้ให้มหาวิทยาลัยแพทย์ คือ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงรับราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2489 ครั้งนั้น ได้ทอดพระเนตรกิจการของคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยด้วยความสนพระราชหฤทัยยิ่ง
เวลาต่อมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณต่อนิสิตและมหาวิทยาลัยอีกหลายประการ ดังเช่น ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์กลุ่มพุทธศาสนาและประเพณีของสโมสรนิสิตจุฬาฯ ซึ่งจัดการบรรยายธรรมะที่น่าสนใจอยู่เสมอ และโปรดที่จะเสด็จมาทรงฟังการบรรยาย ดังเช่นคราวหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงฟังการบรรยายเรื่อง “พระพุทธศาสนากับนิสิตในมหาวิทยาลัย” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2504
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนับสนุนให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชธิดา ทรงเข้าเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศสในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางโอกาสที่พระราชธิดาทรงนำลูกศิษย์ทั้งหลายที่ทรงสอนมาพระราชทานเลี้ยงที่วังสระปทุม สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงมีพระราชปฏิสันถารและทรงรับอย่างเจ้าบ้านที่ดียิ่ง นอกจากนี้ ในบางโอกาสช่วงเวลาเย็นก็ทรงม้าจากวังสระปทุมมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประทับพักพระราชอิริยาบถ และได้ทอดพระเนตรกิจกรรมของนิสิตอยู่เสมอๆ อีกด้วย เป็นความผูกพันระหว่างพระองค์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ยาวนานตลอดพระชนมชีพ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศทางราชการ เป็นระยะระหว่างพุทธศักราช 2502-2505 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงปฏิบัติพระราชภาระในหน้าที่ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยยิ่ง ประกอบกับพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฎ สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีมติทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในปีการศึกษา 2515
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ ได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ อาคารสมเด็จย่า 93 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจัดสร้างขึ้นในพุทธศักราช 2533 เดิมประดิษฐานไว้ ณ บริเวณโถงชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ ต่อมาได้เชิญมาประดิษฐาน ณ ที่ปัจจุบัน โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์รัชกาลที่ 9 มาทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2546
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ