สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผู้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ได้ดำเนินการมาจนเริ่มเข้ารูปรอยเรียบร้อย หลายกระทรวงสามารถฝึกหัดบุคคลเข้ารับราชการอย่างเพียงพอมากขึ้น และจัดการได้ตามความรู้ความสามารถ โรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดหลักของข้าราชการกระทรวงมหาดไทย จึงจะต้องปรับปรุงรูปแบบให้สอดคล้องกับความเหมาะสมในเวลานั้น การขยายระยะเวลาเรียน และกวดขันเพิ่มเติมวิชาการต่างๆ มากยิ่งขึ้นจึงเป็นแนวทางดำเนินการ และได้จัดการเรียนการสอนเช่นนี้ จนสิ้นรัชกาลที่ 5
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบจากสมเด็จพระปิยมหาราช จึงทรงเริ่มการจัดระเบียบ และวางรูปแบบการดำเนินงานของโรงเรียนมหาดเล็กให้ชัดเจน และพัฒนาอย่างเหมาะกับกาลสมัย การจัดตั้งขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัย” ตามพระบรมราชประสงค์รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเริ่มต้นไว้จึงได้รับการสานต่อ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ต ประเทศอังกฤษ และยังได้ทอดพระเนตรการศึกษาในยุโรปที่ได้เสเด็จพระราชดำเนินเยือน รวมถึงมหาวิทยาลัยทั้งในสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นในคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่สยาม รวมถึงพระดำริของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และพระบรมวงศ์ รวมถึงข้อดำริของข้าราชการผู้ใหญ่ที่ถวายความเห็นในการจัดการโรงเรียนมหาดเล็ก เป็นพื้นข้อมูลอันสำคัญในการเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทั้งพระราชทานเงินคงเหลือจากที่ประชาชนเรี่ยรายกันถวายรัชกาลที่ 5 สำหรับสร้างพระบรมรูปทรงม้า 982,672.47 บาท เป็นทุนประเดิม
ในเรื่องที่ตั้งนั้น มีพระราชดำริเช่นเดียวกันกับสมเด็จพระปิยมหาราช และสอดคล้องกับความเห็นของสภากรรมการจัดการโรงเรียนฯ ในการใช้ที่ดินประทุมวัน อันเป็นส่วนที่พระคลังข้างที่จัดเก็บรายได้พระราชทานบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 5 จัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ โดยคิดค่าเช่าเท่าจำนวนรายได้เดิม และไม่กำหนดปีเช่า ทั้งให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติอุดหนุนในส่วนที่ขาดเหลือ อีกทั้งมีพระราชดำริให้ใช้ที่ดินบางส่วนในบริเวณดังกล่าวเพื่อจัดหารายได้เป็นเงินทุนสำหรับมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ได้พระราชทานวังใหม่ ที่ได้ใช้เป็นโรงเรียนต่างๆ มาแต่เดิม เป็นที่ทำการเรียนการสอนและหอพัก ทั้งสร้างตึกบัญชาการในบริเวณที่ตั้งนี้ เป็นอาคารหลังแรกซึ่งออกแบบตามพระราชดำริที่จะใช้ศิลปกรรมแบบสุโขทัยอันเก่าแก่ของไทย เพื่อแสดงถึงอารยธรรมของชาติที่มีมายาวนาน ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีก่อพระฤกษ์โรงเรียน เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458 มีข้อควรสังเกตด้วยว่า พระบรมราชโองการที่บรรจุในศิลาพระฤกษ์นั้น นอกจากจะระบุถึงอาณาเขตแล้ว ยังได้ระบุพระราชดำริอย่างชัดเจนในการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ดังความตอนหนึ่งว่า “…จัดการโรงเรียนให้เป็นแพนกวิทยาต่างๆ เช่น รัฎฐประศาสน์ กฎหมาย การต่างประเทศ การเกษตร การช่าง การแพทย์ การครู เป็นต้น เพื่อจะได้เป็นมหาวิทยาลัยสง่าพระนครต่อไป..”
ปลายปีพุทธศักราช 2459 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัศดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระราชดำริในการดำเนินงานของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ดังที่ท่านได้บันทึกไว้ ความตอนหนึ่งว่า
“…พระมงกุฎเกล้าจึงมีพระราชดำรัสแก่ฉัน (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) ผู้เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการเวลานั้นว่า ชื่อของวิทยาลัยนั้นยังส่อตัว (คือ โรงเรียนข้าราชการพลเรือน) อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าจะฝึกหัดให้เข้าทำราชการเท่านั้น แทนที่จะเข้าใจว่าเป็นตลาดวิชา ใครปรารถนาอะไรก็มาซื้อหาเอาได้ไม่ว่าจะข้าราชการ หรือไปทำงานส่วนตัวในบริษัทใดๆ หรือในหน้าที่พลเมืองทั่วไปได้
มีพระราชดำรัสถามฉันว่า จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเสียทีเดียวไม่ได้หรือ? จะได้เป็นตลาดวิชาให้คนเข้าใจถูกเสียทีเดียว…”
“…พระราชดำรัสต่อไปนั้นว่า ‘นี่คือนิติธรรมของประเทศจัดใหม่ ซึ่งต้องตัดทางลัดเพื่อให้ถึงที่หมายทัน เขาจะไปมัวคอยให้ “ดิมานต์” เกิดเสียก่อนแล้วจึงขยับตัวตามอย่างไรได้? ประเทศจัดก่อนเขาจำเป็นอยู่เองจะต้องเดินตามหนทางซึ่งต้องอ้อมวกเวียน เพราะต้องคิดเอาเอง ไม่มีแบบอย่างต้องตรัสรู้ต่อยอดจากที่รู้กันแล้ว ก่อนตรัสรู้ต้องทิ่มผิดทิ่มถูกไปตามเพลงของการค้นคว้า ฉะนั้น นิติธรรมของเขาก็คอยดูนิมิตร คือ “ดิมานต์” ว่ามีอะไรเกิดขึ้นจะได้ไหวตัวตามโดยจัดตั้ง “สับพลาย” รับให้พอเหมาะ
เดินเถิดอย่าคอยเวลาเลย อย่างไรเสียเราก็ต้องการมหาวิทยาลัย ตั้งเสียเดี๋ยวนี้ทีเดียว จะได้เป็นตลาดวิชาของเมืองไทย ไม่เป็นแต่เพียงที่เพาะข้าราชการไว้ใช้’…”
วันที่ 26 มีนาคม 2459 จึงมีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตลอดรัชกาลได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด กล่าวพอสังเขปคือ ทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภกพระองค์แรกของมหาวิทยาลัย พระราชทานตราพระจุลมงกุฎวางบนเบาะ ให้ใช้เป็นเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย ทรงกำหนดให้มีเครื่องหมายสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาดเล็กเดิมเป็นต้นมา คือ เข็มบัณฑิต ซึ่งปัจจุบันคึอ เข็มวิทยฐานะ ทรงกำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตใช้เสื้อครุยวิทยฐานะได้ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องแบบนิสิต เช่นเดียวกันกับนักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานทุนแก่นักเรียนที่เล่าเรียนดีเป็นนักเรียนในราชูปถัมภ์ ทรงกำหนดชื่อของคณะ และสาขาวิชาตามที่ขอพระบรมราชวินิจฉัย เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สถาปิตยกรรม เศรษฐะวิทยา พระราชทานหนังสือพระราชนิพนธ์แก่หอสมุดของมหาวิทยาลัย ที่สำคัญประการหนึ่ง คือพระราชทานพระบรมราชานุมัติในการเริ่มความร่วมมือพัฒนาทางวิชาการของมหาวิทยาลัยกับมูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์ ซึ่งได้ดำเนินงานต่อมาอีกเป็นเวลานาน
แนวคิดในการจัดการมหาวิทยาลัยในอารยประเทศนั้น อาจกล่าวได้โดยสรุป 3 ประการ คือ จะต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ มีอิสระในการบริหารงาน และมีความมั่นคงในสถานภาพและการดำเนินกิจการ พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนาและพระบรมราชูปถัมภก ได้พระราชทานไว้เป็นเบื้องแรกของมหาวิทยาลัยนั้น สอดคล้องต้องกันทุกประการ เป็นรากฐานอันสำคัญที่ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจริญก้าวหน้ามั่นคงตราบจนกระทั่งทุกวันนี้
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall