26 มกราคม เป็นวันสาธารณรัฐอินเดีย ระลึกถึงการสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อพุทธศักราช 2493 สัมพันธไมตรีระหว่างอินเดียและไทยมีมาอย่างยาวนานในหลายด้าน ที่ชัดเจนที่สุดคืออารยธรรมอินเดีย พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ซึ่งกำเนิดขึ้นในอินเดียนั้น ได้ส่งผลต่อวัฒนธรรมของไทยมานับแต่ครั้งอดีต

สำหรับพื้นที่อันเป็นที่ตั้งก่อนการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีชาวอินเดียอาศัยกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ส่วนมากทำการเลี้ยงวัว หรือค้าขาย ความทรงจำของนิสิตในอดีตยังคงกล่าวถึงชายชาวอินเดียรูปร่างล่ำสัน แข่งกีฬากันเช่น ชกมวย หรือเล่าถึงคอกวัวที่ใช้หาเลี้ยงชีพ จนถึงอาบังขายถั่วที่มีอยู่ในแถบมหาวิทยาลัย จนเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่จุฬาฯ ชาวอินเดียเหล่านี้จึงได้ย้ายถิ่นออกไปอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะชาวอินเดีย ผู็ทรงคุณวุฒิหลายท่าน อาทิ เมื่อพุทธศักราช 2470
รพินทรนาถ ฐากุร นักปรัชญาและกวี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ได้มาแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษา โอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทรงขอให้รพินทรนาถจัดหาผู้ทรงคุณวุฒิชาวอินเดีย เข้ามาเพื่อส่งเสริมการศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รพินทรนาถได้เลือกสวามี สัตยานันทปุรี (ประผุลละ กุมาร เสน) อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาปรัชญาและสันสกฤต จากมหาวิทยาลัยกัลกัตตา โดยได้คะแนนเป็นที่ 1 ในกลุ่มผู้มีคะแนนยอดเยี่ยม อาจารย์มหาวิทยาลัยกัลกัตตา เข้ามารับหน้าที่ดังกล่าวในพุทธศักราช 2475 สวามีสัตยานันทปุรีได้แสดงปาฐกถาหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในเรื่อง “The Origins of Buddhist Thought” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ ชาวอินเดียอีกท่านที่เดินทางมาเยือนมหาวิทยาลัยคือ สุภาษ จันทร โบต วีรบุรุษผู้พยายามนำอินเดียสู่เอกราชอีกท่านหนึ่ง ได้มาเยือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อพุทธศักราช 2486 ครั้งสำคัญอีกครั้งคือประธานาธิบดี
ศรี วราหคิรี เวงกฏ คิรี แห่งอินเดีย ซึ่งเดินทางมาเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ โอกาสนี้ สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติมอบปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำประธานาธิบดีแห่งอินเดียมาในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2515 (ชมภาพยนตร์พระราชกรณียกิจ โดยหอภาพยนตร์แห่งชาติได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=nmvLRxOGxvA)

การศึกษาเรื่องราวของอินเดียในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เริ่มจากการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาบาลีและสันสกฤตในคณะอักษรศาสตร์ ต่อมาได้ขยายไปสู่การศึกษาเรื่องราวที่เกียวข้อง เช่น พระไตรปิฎก วรรณกรรม ทั้งยังเพิ่มเติมการศึกษาวิชาภาษาฮินดี อันเป็นภาษาราชการของอินเดียด้วย การจัดการเรียนการสอนดำเนินการโดยสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ติดตามเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

นอกจากนี้ ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่สร้างความร่วมมือ และส่งเสริมทางวิชาการด้านอินเดียศึกษา ผ่านทางการจัดเสวนา กิจกรรม นิทรรศการ ดังเช่น การจัดงานวันโยคะโลก การแสดงทางวัฒนธรรม การเสวนาภารตะวิทยา “จุฬาฯ ภารัตคดีสถาน” (Indian Corner, CU) ชั้น 6 ศูนย์สารสนเทศประเทศไทยและประชาคมอาเซียน สำนักงานวิทยทรัพยากร (ติดตามเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ Indian Studies Center of Chulalongkorn University)

อีกหน่วยงานที่ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับอินเดียและภูมิภาคเอเชียใต้ คือ ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สังกัดสถาบันเอเชียศึกษา เป็นหน่วยปฎิบัติการวิจัยจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช เพื่อพัฒนา บุกเบิกและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียใต้สู่สาธารณะทั้งในระดับชาติและนานาชาติ (ติดตามเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall