เมื่อช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2564 ตามเวลาท้องถิ่นสหราชอาณาจักร สำนักพระราชวังบักกิงแฮมแถลงว่า เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคต สิริพระชนมพรรษาเป็นปีที่ 99

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรถึงสองวาระ คือในพุทธศักราช 2515 และ 2539 ทั้งนี้ ในวาระแรกนั้น ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2515

ดยุกแห่งเอดินบะระ ทรงเป็นอาคันตุกะพระองค์หนึ่ง ที่ประทับอยู่ในใจของชาวจุฬาฯ ที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท ดังเช่นคุณปาลินี (ณ ป้อมเพชร์) หะรินสุด นิสิตเก่าคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีโอกาสได้เป็นผู้แทนนิสิตร่วมโต๊ะพระกระยาหารที่มหาวิทยาลัยจัดถวาย ณ ศาลาพระเกี้ยวในครั้งนั้น บันทึกความประทับใจไว้ในหนังสือ “รื่นรมย์ใต้ร่มจามจุรี” ซึ่งนิสิตเก่ารุ่น 2513 จัดทำขึ้น ความตอนหนึ่งว่า

“ดิฉันยังจำได้ดีถึงความตื่นเต้นเมื่อได้ร่วมโต๊ะเสวยทรงกลมที่จัดไว้อย่างงดงาม เจ้าชายฟิลิปประทับด้านตรงข้ามกับดิฉัน พระสุรเสียงชัดเจน ทรงมีรับสั่งเรื่องระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษ ช่วงแรกทุกคนค่อนข้างเกรง บรรยากาศตึงเครียด แต่เจ้าชายฟิลิปทรงมีพระอารมณ์ขัน และทรงสรวลเป็นระยะๆ ช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลายเป็นกันเองมากขึ้น พระองค์เสวยพระกระยาหารอย่างเอร็ดอร่อย ทำให้พวกเราที่มีโอกาสร่วมโต๊ะเสวยภูมิใจเป็นอย่างมาก”

นิสิตจุฬาฯ ที่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในครั้งนั้นอีกท่านที่ได้เผยแพร่ความประทับใจต่อเจ้าชายฟิลิป อาคันตุกะแห่งมหาวิทยาลัย คือคุณลดาวัลย์ บัวเอี่ยม นิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวในครั้งนั้นลงในเฟสบุ๊คว่า

“…พวกเรารีบจับจองที่ริมถนนแถวข้างตึกจักรพงษ์ซึ่งเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินไปศาลาพระเกี้ยว พากันร้องถวายพระพร God save the Queen ท่านแย้มพระสรวลและเสด็จผ่านไป พวกเรายังไม่หายปลื้มพากันร้องเสียงดังต่อว่า God save the Prince คราวนี้เจ้าชายฟิลิปทรงหยุดกึกลงตรงหน้า มีพระดำรัสถามว่า ‘พวกเราถวายพระพรท่านหรือ’ เพื่อนต้อย สุชาดา นิมมานนิตย์ มีความกล้าหาญเพ็ดทูลท่าน ขณะที่พวกเราเพื่อนทั้งกลุ่มได้แต่ตื่นเต้น ดีใจ ตกใจ เหยี่ยวข่าวเก็บรูปนี้ไว้ได้ ภาพนี้ปรากฎในหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น เช้าวันต่อมา เป็นภาพประวัติศาสตร์ของชีวิตภาพหนึ่ง”

หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอน้อมถวายความเคารพแด่ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ผู้ทรงเป็นอาคันตุกะแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความอาลัยยิ่ง

ขอขอบพระคุณภาพและเรื่องราว จากบทความในหนังสือรื่นรมย์ใต้ร่มจามจุรี โดยนิสิตเก่าจุฬาฯ 2513 และเฟสบุ๊ค facebook.com/ladavan.buaaim

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall