เมื่อพุทธศักราช 2451 อันเป็นอภิลักขิตสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเถลิงถวัลราชสมบัติเป็นปีที่ 41 ในขณะนั้น ถือว่ายาวนานกว่าสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์นับแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก วาระนี้เอง ปวงชนชาวไทยได้ร่วมกันเรี่ยรายเงินเพื่อสร้างพระบรมรูปทรงม้า ถวายเป็นของทูลพระขวัญ สนองพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติยศ นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญรัชมังคลาภิเษก เป็นเหรียญประดับแพรแถบ พระราชทานตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน ร.ศ.127 และพระราชทานจนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน ร.ศ.127 เป็นเหรียญลักษณะกลมรี ด้านหน้าประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระปิยมหาราช ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย และมีอักษรโดยรอบว่า “จุฬาลงกรณ์ บรมราชาธิราช”

ด้านหลัง เป็นพระครุฑพ่าห์ มีพระตราจักรีอยู่ที่อก และมีอักษรโดยรอบว่า “รัชมังคลาภิเษก รัตนโกสินทรศก 87 ถึง 127 เป็น 40 พรรษา” มีห่วงสำหรับร้อยแพรแถบสีเดียวกับสายสะพายของเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ คือ สีเหลือง

ทั้งนี้ เงินส่วนที่คงเหลือจากที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายจัดสร้างพระบรมรูปทรงม้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งถาวรวัตถุเป็นสาธารณประโยชน์ตอบแทนแก่ราษฎร หากแต่ยังไม่ได้ตกลงประการใดก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานทุนนี้แก่โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ที่จะพัฒนาต่อมาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาที่เป็นหนึ่งในพระราชดำริของสมเด็จพระปิยมหาราช

ในการออกแบบก่อสร้างตึกบัญชาการ หรืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน จึงได้ประดับเครื่องหมาย “พระครุฑพ่าห์ มีพระตราจักรีอยู่บนอก” ซึ่งปรากฎบนเหรียญรัชมังคลาภิเษก ไว้เป็นส่วนหนึ่งของหน้าบันอาคาร เป็นการบ่งบอกที่มาของทุนประเดิมเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งพระบรมราชจักรีวงศ์และประชาชนชาวไทยร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อก่อประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างไม่รู้สิ้นสูญ

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall