“ข้าพเจ้ารู้สึกว่ากรุงสยามจะคงเปนกลางอยู่นั้นมีแต่ทางเสมอตัวกับขาดทุน… ตรงกันข้ามถ้ากรุงสยามฉวยโอกาสเข้าข้างสัมพันธมิตรในงานมหาสงครามแล้ว ก็อาจจะมีทางได้กับเสมอตัว ส่วนทางได้นั้นอย่างน้อยก็จะได้เลิกถอนสัญญากับเยอรมนีซึ่งตามสัญญาเก่า เราตกอยู่ในที่เสียเปรียบหลายประการ แลซึ่งเยอรมัน เมื่อก่อนสงครามได้อิดเอื้อนไม่ยอมจะว่ากล่าวตามความประสงค์ของเรา แลเมื่อสงบศึกแล้วก็จะได้ทำสัญญาใหม่ โดยฝ่ายเราได้รับความเสมอหน้าบ้าง ทั้งอีกข้อหนึ่ง บางทีเราก็จะมีโอกาสได้รับความนิยมยินยอมของฝ่ายสัมพันธมิตรในข้อความบางอย่างซึ่งเราปรารถนาอยู่ เช่นการแก้พิกัดศุลกากรเปนต้น…”

(พระบรมราชาธิบาย รัชกาลที่ 6 เรื่องการรักษาความเปนกลางแห่งกรุงสยามในงานมหาสงคราม ณ ยุโรป อ่านในที่ประชุมเสนาบดีสภา 28 พฤษภาคม 2460)

22 กรกฎาคม 2460 “สยาม” ได้ประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในคราวสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “The Great War มหาสงคราม” ที่อุบัติขึ้นในพุทธศักราช 2457 และสิ้นสุดในพุทธศักราช 2461 เป็นการรบครั้งใหญ่ที่ร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีพลรบสละชีพไปประมาณ 9 ล้านคน ทั้งมีพลเรือนที่เสียชีวิตจากสงครามอีกกว่า 13 ล้านคน รวมถึงความสูญเสียที่เกิดจากสงครามครั้งนี้อีกหลายประการ

แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะอยู่ห่างไกลจากประเทศสยาม แต่ผลกระทบก็มาถึงด้วยเช่นกัน ในฐานะที่สยามเป็นดินแดนที่ชาติมหาอำนาจในขณะนั้นให้ความสนใจที่จะแสวงหาผลประโยชน์จึงพยายามแผ่อิทธิพลมาครอบคลุม ชาติที่กล่าวถึงนี้ล้วนแต่กำลังทำสงคราม ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ดังนั้น พระบรมราโชบายในระยะแรกนับแต่เริ่มมหาสงครามของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือดำรงความเป็นกลางไว้อย่างเคร่งครัด

ในขณะเดียวกัน ทรงติดตามความเคลื่อนไหวของชาติที่ทำสงครามทั้งหลายอย่างใกล้ชิด ทรงแปลข่าวสงครามลงในหนังสือพิมพืหลายเรื่อง ทรงรับทราบรายงานจากราชทูตสยามที่ปฏิบัติหน้าที่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ถึงนโยบาย ท่าทีและมุมมองของประเทศเหล่านั้นต่อสยาม รวมถึงการดำเนินทางยุทธวิธีในสงครามอยู่เสมอ ทรงกำชับให้ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของประชากรชาติที่กำลังร่วมสงคราม ซึ่งพำนักและทำงานอยู่ในสยาม ประกอบกับพระดำริของพระบรมวงศานุวงศ์ ความคิดเห็นของข้าราชการและหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับมหาสงคราม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลสำคัญที่ทรงรวบรวมไว้ตั้งแต่การสงครามเริ่มขึ้นในยุโรป จนกระทั่งถึงพุทธศักราช 2459 เมื่อเยอรมันได้ประกาศทำสงครามด้วยเรือดำน้ำอย่างไม่จำกัดขอบเขต เป็นผลให้ชาติต่างๆ คัดค้านอย่างมาก รวมถึงสหรัฐอเมริการที่ได้ชักชวนให้สยามคัดค้านด้วย แม้ว่าในระยะแรกโดยทางการทูตแล้วสยามยังมิได้รับแจ้งถึงเรื่องดังกล่าว หากแต่ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริในเรื่องนี้ว่า “…แต่ในฐานที่เปนสมาชิกแห่งสมาคมชาติ แลเปนผู้ที่ลงนามในสัญญากรุงเฮกผู้หนึ่ง รัฐบาลสยามตั้งตนไว้ในฐานะแห่งผู้คัดค้านบรรดากิจการทั้งปวงที่รัฐบาลเยอรมันประพฤติผิดต่อกฎหมายและแบบธรรมเนียมการสงคราม…” เมื่อราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ได้รับแจ้งเรื่องการทำสงครามเรือดำน้ำนี้แล้ว จึงได้แจ้งคัดค้านไปตามพระราชดำริ

ฝ่ายมหาอำนาจกลางได้ทำการสงครามโดยละเมิดกฎหมายและธรรมเนียมการสงครามมากยิ่งขึ้น ส่วนฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นก็ได้สหรัฐอเมริกามาเข้าร่วมทำให้ได้เปรียบมากยิ่งขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประเมินถึงผลประโยชน์ของสยามหากเข้าร่วมสงครามในฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งชาติในสัมพันธมิตรก็ทาบทามให้เข้าร่วมชัดเจนยิ่งขึ้น จึงทรงเตรียมการปฏิบัติในการถ่ายเทคนชาติมหาอำนาจกลางที่ปฏิบัติงานในประเทศ รวมถึงจัดการกับกิจการและทรัพย์สินของชนเหล่านั้นด้วย กรณีหนึ่งคือการขุดอุโมงขุนตาน ซึ่งชาวเยอรมันเป็นผู้ดำเนินการก็มีพระราชหัตถเลขาให้เตรียมจัดการอย่างรัดกุม

เมื่อการเตรียมการทั้งด้านการทูต การทหาร และพลเรือนเป็นที่แน่นอนเรียบร้อย วันที่ 22 กรกฎาคม 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการว่าด้วยการสงครามในทวีปยุโรปเพื่อนำสยามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในช่วงเดียวกันนั้นก็ดำเนินการกับเชลยด้วยความเรียบร้อยถูกต้องตามธรรมเนียมสงครามและมนุษยธรรม ตามด้วยการส่งทหารเข้าร่วมเป็นพลรบในสมรภูมิยุโรป ทั้งกองทหารบกรถยนต์ ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนส่งยุทธภัณฑ์ รวมถึงการควบคุมพื้นที่ซึ่งยึดมาได้ และกองบินทหารบก ซึ่งได้เข้ารับการฝึกอบรมด้านยุทธวิธีทางอากาศ การสร้างซ่อมบำรุงอากาศยาน เมื่อสิ้นสุดสงครามจึงได้นำความรู้เหล่านี้มาถ่ายทอดต่อจนสามารถจัดตั้งเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน นอกจากนี้ ผลจากการเข้าร่วมในฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้สยามได้เข้าร่วมในการประชุมสันติภาพอันเป็นจุดกำเนิดของสนธิสัญญาแวร์ซายน์ รวมถึงเริ่มต้นแก้ไขสนธิสัญญา และสิทธิสภาพกับชาติต่างๆ ที่สยามเสียเปรียบได้สำเร็จ การดำเนินงานเรื่องนี้ได้ปฏิบัติต่อเนื่องมาอย่างยาวนานถึงในรัชกาลที่ 8 ไทยจึงมีเอกราชบริบูรณ์เสมอนานาชาติอย่างเต็มภาคภูมิมาจนถึงปัจจุบันด้วยผลแห่งการเริ่มต้นไว้ในครั้งนั้น

“ที่เราได้มีเกียรติยศเช่นนี้ได้ ก็เพราะเหตุที่ชาติเราทั้งหลายตั้งอยู่ในทางธรรม คือ ตั้งอยู่ในที่ถูก เราจะมีทหารไว้ก็ดี จะมีกำลังอย่างใดๆ ทั้งปวงไว้ก็ดี ไม่ได้มีไว้สำหรับข่มเหงผู้อื่น ไม่ได้มีไว้สำหรับที่จะเอากำหมัดเที่ยวยัดปากคนอื่น เรามีไว้สำหรับทำไม ? สำหรับรักษาชื่อของเราที่เป็นไทย รักษาความเป็นไทยให้สมชื่อของเราที่เป็นไทย…”

(พระราชดำรัสรัชกาลที่ 6 ในการเลี้ยงพระราชทานทหารผู้จะไปงานพระราชสงคราม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม 26 เมษายน 2461)

#140ปีพระบรมราชสมภพสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall