พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในขณะที่ประทับที่วังหลวงท่านทรงสนพระทัยในวัฒนธรรมของภาคกลางในหลายๆด้าน แต่ที่ทรงสนพระทัยมากเป็นพิเศษก็เห็นจะเป็นดนตรีภาคกลาง หรือดนตรีไทย

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงโปรดการเล่นดนตรีเมื่อสมัยอยู่ในวังหลวงมีการหัดดนตรีในตำหนักของท่าน โปรดให้มีครูเข้ามาสอน โดยมีครูช้อย สุนทรวาทิน เป็นผู้เข้ามาสอนในตำหนักของท่าน และครูท่านอื่น ๆ อีกมาก และทรงสนับสนุนให้พระประยูรญาติและข้าหลวงในตำหนักของท่าน ฝึกหัดเล่นดนตรีไทยภาคกลางจนเชี่ยวชาญและสามารถตั้งวงเครื่องสายได้ในเวลาต่อมาพระประยูรญาติที่เรียนดนตรีจนได้รับการยกย่องว่ามีฝีมือจัด และเป็นครูในเวลาต่อมาคือ เจ้าเทพกัญญา (ณ เชียงใหม่) บูรณะพิมพ์ เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ และเจ้าบุญปั๋น ณ เชียงใหม่

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีสามารถทรงเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายได้ทั้งซอด้วง ซออู้ แต่ที่ทรงโปรดและทรงเชี่ยวชาญมากที่สุดคือจะเข้ และทรงตั้งชื่อว่า”อุณากรรณ” นอกจากครูช้อย สุนทรวาทิน ยังมีครูอีกท่านหนึ่งที่ถวายการสอนจะเข้ให้กับพระราชชายาฯ จนสามารถเดี่ยวเพลงลาวแพนได้คือครูสังวาลย์ กุลวัลกี

เมื่อเสด็จกลับเชียงใหม่ก็ได้มีทั้งการส่งพระประยูรญาติไปเรียนดนตรีที่กรุงเทพฯ ในสำนักพาทยโกศล และเชิญครูจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาเชียงใหม่ เป็นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างภาคกลางและเหนือ ทำให้ดนตรีไทยแพร่หลายและเป็นที่รู้จักในดินแดนล้านนา ซึ่งครูปี่พาทย์คนแรกที่มาประจำคุ้มที่เชียงใหม่คือครูรอด อักษรทับ ต่อมาจึงได้มีครูจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาประจำที่คุ้มมากขึ้นเรื่อยๆ การหัดดนตรีของพระราชชายาฯ จึงทำให้เกิดครูขึ้นในคุ้มหลวงและเป็นครูคนสำคัญของเชียงใหม่ ได้แก่ เจ้าโสภา ณ เชียงใหม่ และ เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่

ในด้านดนตรีฝรั่ง ตำหนักของเจ้าดารารัศมีในวังหลวงเป็นแห่งแรกที่ใช้เครื่องดนตรีฝรั่งบรรเลงเพลงไทย มีทั้งไวโอลิน แมนโดลิน ออร์แกนลม และเปียโน เนื่องจากได้มีการติดต่อซื้อขายสินค้ากับชาวต่างชาติอยู่บ่อยครั้ง แหม่มเบลล่า มิชชันนารีชาวต่างชาติจึงได้เข้ามาสอนดนตรีฝรั่งแก่พระราชชายาฯ ปรากฎว่าไม่ทรงโปรดทั้งไวโอลินและเปียโน แต่เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ และเจ้าบุญปั๋น ณ เชียงใหม่ นัดดาของท่านเป็นผู้เรียนจากแหม่มเบลล่าแทน และสามารถเรียนได้รวดเร็วด้วย ต่อมาใช้เล่นรวมกับวงเครื่องสาย จึงเกิดเป็นวงเครื่องสายผสมเปียโนเป็นครั้งแรกในเขตพระราชฐานชั้นใน

ในส่วนของดนตรีพื้นเมือง สมัยของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีมักเป็นเพลงบรรเลง นิยมบรรเลงด้วยวงปี่จุม โดยเพลงพื้นเมืองดั้งเดิมจริงๆแล้วมีอยู่ไม่เกิน 20 เพลง จนในสมัยรัชกาลที่ 6 ตอนที่พระราชชายาเสด็จกลับเชียงใหม่อย่างถาวร ดนตรีจากภาคกลางก็เริ่มเข้ามาและเป็นที่รู้จักในเชียงใหม่ แต่ก็เป็นการรับทำนองที่เป็นเพลงไทยสำเนียงลาวของภาคกลางมาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนคำร้องก็มักเป็นภาษาพื้นเมือง ส่วนช่างซอ พระราชชายาฯ ทรงคัดเลือกและฝึกช่างซอด้วยตัวพระองค์เองให้สามารถร้องประกอบการแสดงค่าวซอได้ ทรงสนับสนุนการแสดงและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสมัยนั้น

บรรณานุกรม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ดารารัศมี สายใยรักสองแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2562.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เจ้าดารารัศมี ข้าพเจ้าขอน้อมลำรึกถึงพระเกีรติประวัติ. เชียงใหม่:บริษัทวิทอินดีไซน์ จำกัด, 2557.

ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์