พระกรณียกิจด้านการศึกษา ภาษาและวรรณกรรม
สมัยยังทรงพระเยาว์เจ้าดารารัศมีได้ทรงพระอักษรทั้งไทยและอักษรธรรมล้านนาจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (เจ้าพ่อของเจ้าดารารัศมี) จึงทำให้เจ้าดารารัศมีสามารถสื่อสารทั้งสองภาษาได้อย่างฉะฉาน พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และเป็นองค์อุปถัมภ์ด้านการศึกษาที่สำคัญของเชียงใหม่ ทรงส่งเสริมให้เจ้านายลูกหลานได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนต่างๆ แม้กระทั่งส่งไปศึกษาที่ต่างประเทศ
โดยโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ที่ทรงอุปถัมภ์มีดังนี้
1. ทรงอุปถัมภ์และให้ทุนการศึกษาแก่โรงเรียนดาราวิทยาลัย เป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกประจำจังหวัดเชียงใหม่ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2421 เดิมมีชื่อว่าโรงเรียนสตรี จนกระทั่งพ.ศ. 2452 คณะผู้บริหารจึงได้ทูลขอให้พระราชชายาฯ ทรงตั้งชื่อโรงเรียน พระราชชายาฯ จึงทรงมีพระโทรเลขกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอประทานชื่อแก่โรงเรียนสตรีแห่งนี้ จึงได้รับพระราชทานนามจากร.5 ว่า ”โรงเรียนพระราชชายา” ต่อมาในภายหลังเปลี่ยนเป็น “โรงเรียนดาราวิทยาลัย” ตามพระนามของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
2. ทรงอุปถัมภ์และให้ทุนการศึกษาแก่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2432 ซึ่งสถานที่ตั้งของโรงเรียนเดิมทีแล้วเป็นคุ้มหลวงของเจ้าหลวงเชียงใหม่ โดยเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่) ยกที่ดินผืนนี้ให้ตั้งเป็นโรงเรียนตามคำแนะนำของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
3. ทรงเป็นกรรมการพิเศษจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนหลายคน ซึ่งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนี้สถาปนาขึ้นในปีพ.ศ. 2459 กระทั่งในสมัยร.7 ก็ได้มีการรวมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ของร.6 เป็นโรงเรียนเดียวกันและพระราชทานนามใหม่ว่าวชิรวุธวิทยาลัย
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ด้วยพระราชชายามีพระปรีชาสามารถทางด้านภาษาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังทรงประพันธ์บทละคร บทร้องเพิ่มเติมและทรงแก้ไขบทละครบางตอนให้เหมาะสมในละครเรื่องน้อยไจยาที่ท้าวสุนทรพจนกิจประพันธ์ถวายพระราชชายาฯประพันธ์บทละครร้องเพลงพื้นเมืองสดุดีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลพายัพ ปีพ.ศ. 2469
ประพันธ์บทละครเพิ่มเติมในเรื่องพระลอ ตอนนางรื่นนางโรยไปหาปู่เจ้าสมิงพราย แต่งเนื้อร้องสร้อยในเพลงแขกสาหร่าย และทรงประพันธ์บทร้องในระบำสมโภชช้างเผือก
นอกจากนี้พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงสนพระทัยในเรื่องวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีอีกด้วย เมื่อเสด็จกลับเชียงใหม่เป็นการถาวร จึงมีรับสั่งให้ตรวจค้น และสืบหาพระประยูรญาติ โดยทรงตรัสถามจากพระประยูรญาติผู้ใหญ่ เสด็จไปถิ่นทุรกันดาลเพื่อตรวจสอบและค้นคว้าด้วยตัวพระองค์เองเพื่อทำแผนผังบัญชีรายชื่อเจ้านายฝ่ายเหนือตระกูล ณ เชียงใหม่ แต่มิทันได้เผยแพร่ พระราชชายาฯได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนในปีพ.ศ. 2476
บรรณานุกรม
กู่เจ้าหลวงนครเชียงใหม่.เอกสารที่ระลึกวันพิธีสักการะกู่เจ้าหลวงนครเชียงใหม่,2552.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ดารารัศมี สายใยรักสองแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2562.
สายสวรรค์ ขยันยิ่ง.พระราชชายาเจ้าดารารัศมีกับนาฏยศิลป์ล้านนา.วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชายาฏยศิลป์ไทย ภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543.
ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์