เมื่อพุทธศักราช 2500 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กำลังพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตอยู่ในหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ขณะเดียวกันสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ดังนั้น เมื่อพระราชทานพระบรมราโชวาท จึงมีรับสั่งต่อท้ายแจ้งข่าวพระประสูติกาลเจ้าฟ้าหญิงแก่ผู้ที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ชาวจุฬาฯ ทั้งปวงต่างร้องถวายชัยมงคลดังสนั่นหอประชุมจุฬาฯ สมเด็จพระราชธิดาพระองค์นั้น ได้รับพระนามต่อมาว่า “จุฬาภรณวลัยลักษณ์” ตามพระบรมราชประสงค์ให้มีคำว่า “จุฬา” อันเป็นพระบรมนามาภิไธยสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช และนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ถวายพระพรการประสูติเป็นกลุ่มแรกอยู่ในพระนามด้วย

ต่อมา วันที่ 6 กันยายน 2500 ชาวจุฬาฯ ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร ณ เวทีลีลาส สวนอัมพร วันนั้นซึ่งเป็นวันศุกร์ เป็นวันทรงดนตรีร่วมกับวงลายครามซึ่งสมาชิกมาจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท และออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต จึงทรงแสดงดนตรีพระราชทานแก่นิสิตที่ไปเฝ้าในวันนั้นด้วย มีรับสั่งว่า “วันนี้ขอให้นิสิตเป็นกันเอง” ระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง นิสิตจุฬาฯ ที่ชื่นชอบทางดนตรี ได้รวบรวมกันตั้งเป็นวงดนตรี CU Band ได้รับเชิญเข้าไปแสดงดนตรีเพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2501 เมื่อบรรเลงเสร็จแล้ว นิสิตได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเนื่องจากเสด็จฯ มาทรงดนตรีเป็นรายการต่อไป จึงมีรับสั่งกับนิสิตว่า “ถ้าไม่มีธุระอะไรต้องรีบกลับ ก็อยู่เล่นด้วยกันก่อนนะ” วันนั้นวงนิสิตจุฬาฯ จึงได้ร่วมแสดงดนตรีกับวงลายครามของพระเจ้าอยู่หัว เมื่อการบรรเลงเสร็จสิ้น มีรับสั่งกับนิสิตกลุ่มนั้นอีกว่า “วันอังคารจะไปเล่นดนตรีที่จุฬาฯ แล้วเล่นด้วยกันอีกนะ”

ศาสตราจารย์ ม.ร.ว แหลมฉาน หัสดินทร บรรยเวกษ์ (รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตในปัจจุบัน)ซึ่งเป็นที่ปรึกษาสโมสรนิสิตฯ ได้รับทราบพระราชกระแสดังกล่าว จึงร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ (นายเขียน สุวรรณสิงฆ์) ร่วมกันจัดการรับเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมทั้งวงดนตรีของพระองค์ที่มาแสดงให้นิสิตในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีรับสั่งขอบใจที่ปีก่อนเหล่านิสิตได้ไปเยือนพระองค์ ปีนี้พระองค์ขอมาเยี่ยมนิสิตบ้าง “วันทรงดนตรี” จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในคราวนั้น ต่อมาจึงทรงกำหนดให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 8 เป็นวันทรงดนตรีที่จุฬาฯ นอกจากนี้ ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยต่างๆ อีกหลายแห่ง

วันทรงดนตรีที่จุฬาฯ นั้น เป็นความทรงจำที่ผู้ทันเหตุการณ์ประทับใจยิ่ง เพราะความเป็นกันเอง และความสนิทสนมที่พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ประชาชน ซึ่งเป็นนิสิตในมหาวิทยาลัยนั้นประจักษ์ชัดอย่างยิ่ง หลายคราวนอกจากจะพระราชทานพระราชดำรัสที่สนุกสนานและเป็นข้อคิดแล้ว ยังทรงดำเนินรายการเองด้วยหลายหน นิสิตสามารถขอเพลง และขอให้คณาจารย์ผู้ใหญ่ร่วมแสดงด้วยก็ได้ ท่านใดแสดงได้ก็ขึ้นมาร่วม ท่านใดไม่ถนัดก็เปลี่ยนเป็นบริจาคสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ที่ทรงตั้งขึ้นเป็นพระบรมราชานุสรณ์ถึงพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อเป็นทุนศึกษาต่อในต่างประเทศแก่ผู้มีความสามารถได้ต่อยอดความรู้นำมาพัฒนาประเทศ ที่บรรดาชาวจุฬาฯ จะร่วมบริจาคในงานวันทรงดนตรีทุกครั้งด้วย

นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาทรงร่วมกิจกรรมวันทรงดนตรีทุกครั้ง บางโอกาสก็ทรงเปียโนตามที่นิสิตกราบบังคมทูลขอ และมีพระราชดำรัสกับนิสิตทุกครั้ง ทั้งทรงขอบใจที่ช่วยกิจการต่างๆ และพระราชทานพรในการสอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ก็เคยทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส. วันศุกร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวาควัฒนวรขัตติยราชนารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้ทรงดนตรี และขับร้องพระราชทานแก่นิสิตในงานวันทรงดนตรีด้วย ในบางปี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับบรรดานิสิตต่างเข้าไปเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จฯ บางปีก็ทรงดนตรีจนกระทั่งดึก ทั้งนิสิตก็ไม่ยอมลากลับ จนกระทั่งเพลง When ซึ่งเป็นเพลงปิดวงของ อ.ส.วันศุกร์บรรเลงขึ้น ก็เป็นสัญญาณว่าได้เวลาแล้ว นิสิตที่มาเฝ้าฯ จึงทวนท่อนสุดท้ายของเพลงซึ่งกันหลายๆ ครั้ง เสมือนคำกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า “So won’t you please tell me when ?”

แต่แล้ววันทรงดนตรีก็ต้องสิ้นสุดลงในพุทธศักราช 2516 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยพระราชกรณียกิจที่มากยิ่งขึ้น และบรรยากาศของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ภายหลังจากนั้น 20 ปีสมาชิก CU Band ได้ร่วมกันจัดงาน “วันที่ระลึกวันทรงดนตรี” ขึ้นเป็นครั้งแรกและจัดขึ้นสืบมาจนถึงปัจจุบันในฐานะวันสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอเชิญชมคอนเสิร์ต“วันที่ระลึกวันทรงดนตรี” ในรูปแบบออนไลน์
วันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2564 เวลา 19.00 น.
รับชมได้ทาง Facebook : Chulalongkorn University
YouTube : www.youtube.com/user/chulauniversity
และร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสภากาชาดไทย บัญชี “สมทบทุนอานันทมหิดล วันที่ระลึกวันทรงดนตรี” เลขที่ 045-2-98139-9 สามารถส่งหลักฐานการบริจาคเพื่อขอลดหย่อนภาษี ได้ที่ line id : studentaffair

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall