ตั้งแต่พุทธศักราช 2463 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นสื่อกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เพื่อขอความช่วยเหลือในจัดการการศึกษาวิชาแพทย์ในประเทศสยาม จนได้รับผลดียิ่งโดยมูลนิธิช่วยเหลือทั้งด้านการก่อสร้างอาคารเรียน ช่วยออกเงินเดือนของศาสตราจารย์จากต่างประเทศที่เข้ามาทำการสอน รวมทั้งมอบทุนแก่ผู้ที่จะไปศึกษาต่อเพื่อเตรียมเป็นผู้สอนในมหาวิทยาลัย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2466 เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร ทรงรับตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย จึงทรงปรึกษาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุฉาเจ้า เมื่อพระราชดำริของสมเด็จพระพันวัสสาพ้องด้วยคำกราบบังคมทูลพระกรุณาและพระราชดำริส่วนพระองค์ จึงทรงมีพระราชโทรเลขถึงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทรให้ทรงรับตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย

เมื่อทรงปฏิบัติราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยนั้น เป็นงานชนิดที่เรียกว่านั่งโต๊ะทำอย่างเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ต้องพระราชอัธยาศัย จึงทรงเริ่มสอนกายวิภาคศาสตร์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง (Vertebrate anatomy) ในวิชาชีววิทยา และวิชาประวัติศาสตร์ การทรงสอนนี้ทำให้ได้ทรงพบกับนิสิต และสภาพการดำเนินการของมหาวิทยาลัยด้วยพระองค์เอง นิสิตที่มีโอกาสได้เรียนวิชาที่ทรงสอน บอกเล่าถึงความทรงจำในช่วงเวลานั้นไว้ตอนหนึ่งว่า

“ทรงมีพระเมตตากับศิษย์มาก ไม่ทรงดุเลย แต่พวกเราเกรงใจท่านมาก ไม่ใช่กลัวเพราะพระองค์ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า ทรงวางพระองค์เงียบ ๆ แต่ไม่ถึงกับขรึม เรียกว่าทรงวางพระองค์เหมาะเจาะ เวลาเสด็จมามหาวิทยาลัยที่ตึกวังวินเซอร์ ทรงขับรถยนต์คันเล็กๆ ด้วยพระองค์เองมาจากวังสระปทุม พบลูกศิษย์หรือนิสิตเดินอยู่ จะทรงหยุดรถ เรียกขึ้นรถมากับพระองค์ บางครั้งมากันแน่รถเลยทีเดียว ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงพอพระทัย และมีความสุขพระทัยมากที่ได้ทำเช่นนี้ ลูกศิษย์ก็ปลื้มใจ มาคุยกันเชียวว่าวันนี้มารถยนต์ มีทูลกระหม่อมแดงเป็นคนขับ”

หากพระอนามัยของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรนั้นเป็นอุปสรรค แต่ราชการมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นใหม่นั้น การที่จะต้องทรงประสานงานและเจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานมหาวิทยาลัยนั้นหนักเกินไปต่อพระสุขภาพที่ทรงพบว่าไม่บริบูรณ์ตั้งแต่ยังทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ 8 เดือนหลังจากทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี จึงทรงเปลี่ยนหน้าที่เป็นข้าหลวงตรวจการศึกษาทั่วไป (Inspector-General of Education) ตามคำกราบบังคมทูลพระกรุณารัชกาลที่ 6 ของเสนาบดี เพื่อจะได้มีพระดำริเกี่ยวกับการศึกษาได้ทุกระดับชั้น และสอดคล้องกับพระอนามัย อย่างไรก็ดี ยังทรงงานเป็นอาจารย์ของบรรดานิสิตจุฬาฯ อยู่เช่นเดิม จนกระทั่งเสด็จออกไปรักษาพระองค์ พร้อมทั้งศึกษาวิชาแพทย์ในต่างประเทศ

ต่อมาในรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะปรับรูปการของมหาวิทยาลัยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ในฐานะที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ทรงเคยดำรงตำแหน่งบริหารมหาวิทยาลัยมาก่อน จึงทรงพระราชนิพนธ์ “รายงานความเห็นเรื่องโครงการมหาวิทยาลัย” ซึ่งทรงเสนอแนวทางที่มหาวิทยาลัยควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อาทิ การให้มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานอิสระขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือคณะอภิรัฐมนตรี เช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ต และเคมบริตจ์ ที่ขึ้นตรงต่อสภาขุนนาง ไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ การตั้งสภามหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินงานทางวิชาการและบริหาร การมีส่วนร่วมของคณาจารย์ นิสิต และนิสิตเก่า ในการเสนอความคิดเห็นในการดำเนินงานมหาวิทยาลัยเป็นต้น พระราชดำริเหล่านี้คณะกรรมการดำริรูปการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำมาพิจารณาประกอบด้วย

แม้ว่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ จะเสด็จสวรรคตไป เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 แต่ได้พระราชทานเงินไว้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 จำนวน จำนวนแรกสองแสนบาท สำหรับเป็นทุนจูงใจให้มีผู้เลือกสอนวิชาวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นอาชีพ และเพื่อที่จะอุดหนุนให้ผู้ที่เป็นอาจารย์สอนวิชาวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือนิสิตผู้ศึกษาวิชาดังกล่าวมีโอกาสศึกษาเพิ่มเติม อันได้แก่เงินทุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกของฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกจำนวนหนึ่งเป็นเงินห้าแสนบาท เพื่อบำรุงวิชาแพทย์และพยาบาล โดยมีพระราชพินัยกรรมผูกพันต่อเนื่องเป็นเวลา 25 ปี จนครบจำนวน พระราชประสงค์นี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงดำเนินการต่อมาจนครบถ้วน นอกจากนี้ พระราชโอรส พระราชธิดา จนกระทั่งถึงพระราชนัดดา และพระราชปนัดดา ก็ทรงผูกพันเกี่ยวข้อง และทรงสนับสนุนกิจการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด ทั้งในฐานะพระบรมราชูปถัมภก อาจารย์ และนิสิต

ระลึกพระมหากรุณาธิคุณผู้เกื้อหนุนจุฬาฯ 24 กันยายน วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกพระบรมราชอัยกาในรัชกาลปัจจุบันอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และอาจารย์วิชากายวิภาคศาสตร์และวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้ทรงสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระฉายาลักษณ์ลงสีจากเพจ S. Phormma’s Colorizations

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall