“…การเล่าเรียนนี้มีข้อสำคัญอยู่ที่จะจัดให้เร็วไม่ได้ ต้องตั้ง 10 ปี 20 ปีจึงจะได้ ถ้าไม่รีบคิดตั้งมูลรากลงไว้ให้มั่นคงเป็นหลักฐานแล้ว อีกเยอเนอเรชั่นหนึ่งก็ไม่พอ…”
พระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแก่กรมศึกษาธิการองค์นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความตั้งพระราชหฤทัยที่จะทรงจัดการศึกษาในประเทศสยามให้สำเร็จ อันจะนำมาสู่การพัฒนาประเทศ “การศึกษา” จึงเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญที่ทรงดำเนินไปพร้อมกับการปฏิรูประบบราชการของสยาม เพื่อให้ประเทศสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และก้าวหน้าเสมออารยะประเทศ การศึกษาที่ทรงมุ่งหวังและทรงดำเนินการนี้ ได้วางแผนการจัดไว้ทุกระดับ และดำเนินการไปเป็นระยะ ตั้งแต่มูลฐานไปจนถึงการศึกษาอย่างสูง เช่น “ยูนิเวอซิตี”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังทวีปยุโรปทั้ง 2 ครั้ง คือในพุทธศักราช 2440 และ 2450 ได้ทอดพระเนตรมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงในยุโรปอาทิ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2440 ได้ทอดพระเนตรวิทยาลัยศาสนศาสตร์ (Divinity School) ห้องสมุดบอดเลียน (Bodleian Library) ถวายพระกระยาหารกลางวันที่วิทยาลัยเบลเลียล (Balliol) และเสด็จฯ ไปยังวิทยาลัยไครสต์เชิร์ช (Christ Church) ซึ่งหลังจากนั้น 2 ปี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารได้ทรงเข้าศึกษา ณ ที่นี้ 2 เดือนถัดมา เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงสยามแล้ว มหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวาย “ดีกรีอย่างสูง” ผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ดังความตอนหนึ่งในหนังสือของพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ว่า
“ด้วยที่ปฤกษาการในออกซเฟิดยูนิเวอซิตี ประชุมพร้อมกันเห็นควรจะถวายดิกรีอย่างสูงของออกซเฟิดแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนพระเกียรติยศในการที่ได้เสด็จพระราชดำเนิรมาเยี่ยมเยือน เปนพระผู้มีเดชานุภาพ และพระเกียรติคุณอันประเสริฐพระองค์หนึ่งซึ่งเขาได้พบ ทั้งได้มีพระมหากรุณาทรงจัดการศึกษาสรรพวิทยาให้แพร่หลายแก่ประชากรกุลบุตรในพระราชอาณาเขตรของพระองค์ให้รุ่งเรืองขึ้น”
ในการเสด็จพระราชดำเนินเยอรมันเมื่อประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พุทธศักราช 2450 นั้น ได้ทอดพระเนตรมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2450 มีพระราชหัตถเลขาเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ใน “ไกลบ้าน” ความตอนหนึ่งว่า
“ได้ไปที่ยูนิเวอซิตี โปรเรกเตอรับเข้าไปในห้องซึ่งเปนที่ไว้สมุดลงชื่อนักเรียนแลไว้เครื่องสำหรับตำแหน่ง มีไม้สำหรับถือ แลขวดหมึกเปนต้น ซึ่งเปนของเก่าหลายร้อยปีมาแล้ว สมุดที่สำหรับลงชื่อนักเรียนนั้นเปนเล่มใหญ่ เย็บใบปกออย่างงาม มีอิกเล่มหนึ่งสำหรับผู้มีบรรดาศักดิ์ที่ไปเยี่ยมยูนิเวอซิตีนั้น มีแกรนด์ดุ๊กเยอรมันเคราน์ปรินซ แลลูกโต (รัชกาลที่ 6) เปนต้น เขาให้พ่อลงชื่อในสมุดเล่มนั้นด้วย …การเรียนยูนิเวอซิตีนั้น ไม่ใช่เรียนหนังสือ การที่จะอ่านหนังสือนั้นเปนส่วนของตัวเองที่จะอ่าน ชั่วแต่ต้องไปฟังเล็กเชอ เล็กเชอนั้นเรื่องต่างๆ ห้องต่างๆ ตามแต่จะเลือกฟัง แล้วกำหนดจดจำไว้ มาเรียนด้วยหนังสือต่อในที่ของตัวเอง”
มหาวิทยาลัยไฮเดินเบิร์กนี้ พระเจ้าลูกยา่เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) ได้ทรงเข้าศึกษาเมื่อพุทธศักราช 2442 และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ) ทรงเข้าศึกษาในพุทธศักราช 2468
มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เป็นอีกแห่งที่ได้เสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2450 โอกาสนี้มหาวิทยาลัยได้จัดพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (LL.D.) ณ เดวอนไชร์เฮ้าส์ ซึ่งเป็นที่พำนักของดยุคแห่งเดวอนไชร์ที่ 8 ผู้เป็นอธิการบดี ทรงเล่าถึงพิธีการนี้ไว้ว่า
“แล้วไปตั้งกระบวนแห่แต่ห้องชั้นล่างขึ้นไปห้องชั้นบน สักครู่หนึ่งจึ่งมีพนักงานที่ถือไม้เงินสองคน สวมกาวน์ดำแลหมวกสี่เหลี่ยมมานำขึ้นกระไดไปชั้นบนเปนห้องใหญ่ที่ประชุม ในห้องนั้นตั้งเก้าอี้สองแถวอย่างเช่นในวัด มีพวกเสื้อดำหมวกเหลี่ยมนั่งอยู่ข้างน่า พวกเราแลคนอื่นนั่งอยู่ข้างหลังทั้งสองข้าง ไวสชานเซลเลอห่มผ้าสีแดงขลิบขนคลุมยาวลงมาตลอดเท้า สวมหมวกดำสี่เหลี่ยม มีผู้ช่วยสวมกาวน์ดำยืนอยู่ข้างหลังสองคน ปับลิกออเรเตอสวมกาวน์แดง ยืนอยู่ข้างซ้าย พ่อยืนอยู่ตรงหน้า แล้วอ่านหนังสือเปนภาษาลติน จบแล้วไวสชานเซลเลอยื่นมือมาจับมือพ่อ ว่าภาษาลตินอิกยาว แล้วเชิญให้ขึ้นนั่งบนเก้าอี้ข้างขวา ผู้ที่อยู่ข้างล่างตบมือ แล้วเปนเสร็จพิธีกันเท่านั้น”
ด้วยพระราชวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล และพระบรมราชปณิธานที่จะให้ประเทศสยามเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติได้ “การศึกษา” จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญประการแรกที่สมเด็จพระปิยมหาราชทรงใช้ในการพัฒนาบ้านเมือง ดังเช่นการที่ทรงตั้ง “โรงเรียนมหาดเล็ก” เพื่อสร้างคนเพื่อเข้ารับราชการสนองต่อการปฏิรูปที่ทรงจัดขึ้นใหม่ ทรงติดตามผลของมหาดเล็กนักเรียนอยู่เสมอมา ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในนิทานโบราณคดีว่า “สังเกตดูพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาดเล็กรายงานที่ไหน ก็ทรงแสดงพระเมตตาปรานี มักทรงทักทายและตรัสเรียกใช้สอย ทรงไถ่ถามถึงการงานที่ไปทำเพื่อจะให้มีแก่ใจ เห็นได้ว่าพอพระราชหฤทัยที่ทรงเห็นผลของโรงเรียนมหาดเล็ก ว่าเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองได้ดังพระราชประสงค์ “
จนกระทั่งช่วงเวลาสุดท้ายแห่งพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนึงถึง “ยูนิเวอซิตี” ของสยามที่จะตั้งพระราชหฤทัยทำให้สำเร็จ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) กราบบังคมทูลเรื่องนี้แด่รัชกาลที่ 6 ความตอนหนึ่งว่า
“…ก่อนเสด็จสวรรคตนั้น (รัชกาลที่ 5)ได้ทอดพระเนตรสถานที่ จึงมีพระราชกระแสว่า ที่บริเวณวัดราชบุรณะนั้นไม่กว้างใหญ่เท่าที่ทรงเข้าพระราชหฤทัย ไม่ใหญ่พอที่จะเป็นมหาวิทยาลัยในข้างหน้า …ที่จะคิดให้เป็นมหาวิทยาลัยนั้นต้องไปจับที่ประทุมวัน เพราะพื้นที่กว้างใหญ่ มีทางที่จะเปิดให้กว้างขวางสำหรับการข้างหน้าได้ และที่ไผ่สิงห์โตก็มีเป็นทุนอยู่แล้ว โปรดเกล้าฯ ว่าจะคิดอย่างไรก็ให้คิดเสีย”
ในรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผู้เป็นพระราชปิโยรส จึงสนองพระบรมราชปณิธานนี้จนสำเร็จเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” พระราชานุสาวรีย์ อันใหญ่และถาวรทั้งเป็นเครื่องที่จะทำให้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติไทยไม่มีเวลาเสื่อมสูญ
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall