ในการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรี ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น จะมีพระราชดำรัสกับรรดานิสิตอย่างเป็นกันเอง มีทั้งในเชิงพระราชปรารภถึงเรื่องราวต่างๆ ในบ้านเมืองขณะนั้น หรือเรื่องราวในมหาวิทยาลัย แม้กระทั่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างนิสิตก็มีเช่นกัน ด้วยชาวจุฬาฯ นั้นหวังในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบรมราชูปถัมภกอยู่เสมอ ด้วยความผูกพันว่าทรงเป็นที่พึ่งสูงสุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และทรงเอาพระราชหฤทัยใส่กิจการมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ บางเรื่องราวที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ไม่เข้าใจกันนั้น ก็ทรงมีพระบรมราชาธิบาย หรือตรัสบรรเทาให้เหตุการณ์เหล่านั้นคลี่คลายไป ทั้งได้พระราชทานพรเป็นกำลังใจสำหรับการสอบ รวมถึงทรงแนะแนวทาง และข้อควรคำนึงในชีวิตของนิสิตที่เป็นกำลังของชาติในอนาคต ดังเช่นที่ตรัสไว้ในวันทรงดนตรีครั้งสุดท้ายในรัชกาลเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2516 ความตอนหนึ่งว่า
“เพราะว่าเราจะทําอะไรมันก็มีสําเร็จบ้างไม่สําเร็จบ้างถ้าไม่สําเร็จก็มีสองทางที่จะเลือกได้คือ ท้อใจทางหนึ่ง และอีกทางหนึ่งก็คือค้นคว้าต่อ ปฏิบัติต่อไปจนกระทั่งสําเร็จเรียบร้อย ด้วยวิชาการ ด้วยความอดทน ด้วยความกล้าหาญ และด้วยความรอบคอบ แต่ที่เข้าใจจากคําพูดของนายกสโมสรนั้น ก็เข้าใจว่าคงได้ทําเช่นนี้แล้ว ก็ได้คิดพิจารณาอยู่แล้ว เพราะว่าได้บอกว่าใช้สมอง ใช้สมองแล้วควรจะได้พบวิธีการ และการท้อถอยนั้นก็ไม่ไช่ท้อถอยเต็มที่ คือท้อถอยบ้าง ฉะนั้นก็ที่บอกมาว่าท้อถอยก็ไม่เป็นห่วงนัก
แต่การแก้ไขการท้อถอยนี่มันก็มีหลายวิธี วิธีที่ดีที่สุดก็วิธีที่ใช้อยู่แล้ว คือใช้สมองมาพิจารณาโดยรอบคอบว่าปัญหามีอะไรบ้าง ความต้องการของเรามีอะไรบ้าง เป้าหมายเรามีอะไรบ้าง อันนี้ก็อาจทําให้แต่ละคนรู้สึกว่าเป็นการเสียเวลาเหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเสียเวลา เดี๋ยวนี้เวลามีค่า ต้องรีบทํา ถ้าไม่รีบทําเวลาจะผ่านไป แต่ด้วยเหตุนี้เองที่เราจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะว่าถ้าเราพิจารณาด้วยความรอบคอบ แทนที่จะล่าช้าจะกลับทําให้เร็วขึ้น เพราะทําแล้วแน่ ไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมตลอดเวลา ไม่ต้องถอย ไม่ต้องท้อ และไม่ทําให้คนอื่นต้องมาขัดขาเรา คือถ้าเราทําด้วยเหตุผล ถ้าเราทําด้วยความตั้งใจที่เหมาะสม ตรงเป้าหมายที่เห็นชัดแจ้งด้วยวิธีการที่ถูกต้องแล้ว คนที่จะขัดขาเราก็ไม่กล้า คนที่ขัดขาเราก็ท้อถอยเอง ไม่อยากที่จะมาเจอของที่ถูกต้อง พูดง่าย ๆ ว่ามาเจอของแข็ง คือของแข็งนั่นน่ะไม่ใช่อื่น คือความรอบคอบ ความมีเหตุผล ความมีความสุจริตใจ แน่ใจ และความมีพลัง มีกําลังของตัวเพื่อทําสิ่งที่ดีคือเป้าหมายที่เหมาะสม ใครจะมาคัดค้านความแน่วแน่ในทางที่ดี ในทางที่เหมาะสมนี้ได้ ใครก็คัดค้านไม่ได้ จะมีกําลังทางกายเท่าใดก็ไม่สามารถที่จะมาทําให้พลังของความรอบคอบ พลังของเหตุผลได้ พลังของการเล็งเป้าหมายที่เหมาะสมที่สุจริตนั้นไม่มีอะไรมาทําลายได้ ฉะนั้นก็เป็นวิธีการที่จะไม่ต้องท้อถอยแม้แต่นิด แล้วก็ปีหน้าอาจรายงานว่าแม้จะมีทางที่จะท้อถอยก็ไม่ท้อถอย เพราะว่าถ้าเราพิจารณาดูแล้ว เราทําอะไรที่ดีที่เหมาะสม ไม่มีอุปสรรค
ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาไม่ใช่คนแก่ ส่วนมากเป็นผู้ที่กําลังศึกษาเพื่อที่จะปฏิบัติการในชีวิตอนาคต ยังมีวิชาการน้อย จึงเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มพูนวิชาการ อาจยังมีประสบการณ์น้อยเพราะว่าอายุยังไม่มากนัก ที่บอกว่าอายุยังไม่มากนัก บางคนก็อาจนึกว่าอายุขนาดนี้ก็ควรจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็จริงผู้ใหญ่แล้ว แต่ว่าอายุในทางปฏิบัติการก็อาจน้อย จึงอาจทําให้เห็นว่าเราทําแล้วไม่ได้ผลเร็ว ๆ ก็จะท้อถอย แต่ว่าด้วยเหตุผลนี้เอง ต้องพิจารณาโดยรอบคอบว่า เรายังมีวิชาแค่นี้และมีอายุแค่นี้ เป็นการเสียเปรียบหรือเปล่า ความจริงไม่ใช่เสียเปรียบ เป็นการได้เปรียบ เพราะว่าถ้ามาพิจารณาแล้วด้วยความรอบคอบจริง ๆ ว่า เรามีเวลา เรามีเวลาที่จะปฏิบัติให้ได้ถึงเป้าหมายได้ เพราะเรายังมีชีวิตข้างหน้าอีกมาก
สําคัญที่สุดก็คือ เวลานี้เรามีอุดมคติ เรามีเป้าหมายที่แจ่มแจ้ง มีความตั้งใจที่จะทําให้บ้านเมืองของเราซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเราเป็นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่ร่มเย็น เราต้องรักษาอุดมคตินี้ไว้ หมายความว่าจะต้องฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็งว่าเดี๋ยวนี้เรามีอุดมคติด้วยความสุจริตใจ อย่าให้อุดมคตินี้บินหายไป แล้วก็ถ้าไม่ระวังมันบินหายไปได้ ฉะนั้นจะต้องตั้งจิตตั้งใจเดี๋ยวนี้ให้รักษาอุดมคตินี้ไว้สําหรับอนาคตถึงจะดีแน่แล้วก็ไม่ต้องให้ศีลให้พรอะไรเลย ให้ทุกคนตั้งจิตให้เข้มแข็ง และหวังว่ารักษาอุดมคตินี้ต่อไปอีกในอนาคต เมื่อมีความรู้เพิ่มพูนขึ้นทุกวัน มีอายุมากขึ้นทุกวัน ให้รักษาอุดมคตินี้ได้ไว้
คือต้องให้ศีลให้พรตัวเองว่าให้รักษาอุดมคตินี้ไว้ เป็นเวลาสักสามสิบสี่สิบปีข้างหน้า จุดหมายที่วางเอาไว้จะต้องบรรลุผลแน่นอน ไม่มีปัญหาไม่มีการสงสัยใด ๆ เลย”
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall