เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2490 ที่อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การศึกษา

ด้านดนตรีไทย เริ่มเรียนดนตรีไทยตั้งแต่วัยเด็ก จากคุณพ่อชุบ โสวัตร จากนั้นได้เข้าศึกษาวิชาดนตรีเป็นวิชาเฉพาะที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ตั้งแต่ชั้นต้นปีที่ 1 เครื่องมือเอกระนาดทุ้ม โดยมีอาจารย์ประสิทธิ์ ถาวร เป็นครูผู้สอน จนสามารถบรรเลงได้ถึงระดับเพลงเชิดจีน 6 ชั้น (ทาง 4 ชั้น) จึงได้รับมอบหมายให้คิดวิธีดำเนินกระสวนทำนองระนาดทุ้มด้วยตนเอง ระหว่างที่ศึกษาวิชาเอกยังได้ศึกษาวิชาโทด้านการขับร้องกับครูสำคัญหลายท่าน เช่น ครูจิ้มลิ้ม กุลตัณฑ์ ครูลิ้นจี่ จารุจรณ ครูอุษา สุคันธมาลัย ครูศรีนาฏ เสริมสิริ และได้มีโอกาสเพิ่มเติมความรู้ด้านการขับร้องจากครูท้วม ประสิทธิกุล รวมทั้งด้านการพากย์ เสภา กับครูประพันธ์ สุคนธชาติ และครูประเวช กุมุท นอกจากนี้ยังได้ศึกษาด้านเครื่องสายกับครูทองดี สุจริตกุล ร่วมด้วย

ขณะที่ศึกษาอยู่ระดับชั้นกลางปีที่ 2 ได้ไปศึกษาความรู้เพิ่มเติมด้านเครื่องเป่ากับครูเทียบ คงลายทอง ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตร ซึ่งครูเทียบได้เมตตาถ่ายทอดความรู้อย่างเต็มที่ตั้งแต่พื้นฐานเริ่มแรก ถึงระดับสูงขั้นเพลงเดี่ยว จนกระทั่งมีความรู้ความสามารถด้านเครื่องเป่าทุกชนิด ทั้งปีใน ปี่นอก ปี่ชวา ปี่มอญ และขลุ่ยชนิดต่างๆ มีความรู้ความสามารถในระดับที่ไม่มีใครเป่าได้ทัน นอกจากนี้ยังได้ไปศึกษาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องปี่พาทย์มอญและนางหงส์ กับครูโม ปลื้มปรีชา ศึกษาด้านเครื่องหนังกับครูมิ ทรัพย์เย็น ครูพริ้ง ดนตรีรส ครูพริ้ง กาญจนผลิน และครูโองการ กลีบชื่น ไปเรียนเพิ่มเติมทั้งในด้านของเพลงเกร็ด เพลงเรื่อง และเพลงเดี่ยว ในเครื่องดนตรี ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ กับครูสอน วงฆ้อง

การทำงาน

ได้รับคัดเลือกให้ปฏิบัติงานเป็นข้าราชการนักเรียนแผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร โดยปฏิบัติเครื่องเป่าเป็นเครื่องมือเอก ในปี พ.ศ. 2510 ขณะกำลังศึกษาอยู่ชั้นสูงปีที่ 1 เมื่อจบการศึกษาชั้นสูงปีที่ 2 จึงได้บรรจุเข้ารับราชการ ในปี พ.ศ. 2512 ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้โอนย้ายมารับราชการที่วิทยาลัยนาฏศิลป ในตำแหน่งครูทำหน้าที่สอนที่วิทยาลัยนาฏศิลป

ในปี พ.ศ. 2526 ได้รับเชิญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มาบรรจุเป็นอาจารย์ เพื่อร่วมจัดทำหลักสูตร ศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต และเปิดหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตขึ้น ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางคศิลป์ หัวหน้าสาขาวิชาดุริยางค์ไทย และรักษาการหัวหน้าภาควิชานาฏยศิลป์คนแรก ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ระหว่างรับราชการ ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอนตลอดมา จนเกษียณอายุราชการ ในช่วงปี พ.ศ. 2529 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมขึ้น จึงเชิญอาจารย์บุญช่วย โสวัตร มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกตำแหน่งหนึ่ง มีผลงานสร้างสรรค์ด้านดนตรีไทยตลอดมา จนเกษียณราชการในปี พ.ศ. 2550

ด้วยประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เรียนเชิญให้ดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทั้งด้านงานประพันธ์ งานประดิษฐ์ งานบรรเลง การบันทึกเสียง การถ่ายทอดความรู้และงานวิจัย ด้านดนตรีไทยให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อไป

ผลงานสำคัญและเกียรติประวัติ

ผลงานประพันธ์เพลง

ประเภทเพลงโหมโรง ได้ประพันธ์
  • เพลงโหมโรงล่องฟ้า เป็นเพลงโหมโรงประจำโรงเรียนจิตรลดา
  • เพลงโหมโรงสะมิแล เป็นเพลงโหมโรงประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ประเภทเพลงเดี่ยว ได้ประพันธ์
  • ทางเดี่ยวทุกเครื่องมือ เพลงเชิดจีน สามชั้น
  • ทางเดี่ยวจะเข้และซออู้ เพลงต่อยรูป สามชั้น
  • ทางเดี่ยวซอด้วง เพลงนกขมิ้น สามชั้น
  • ทางเดี่ยวทุกเครื่องมือ เพลงสุดสงวน สามชั้น
  • ทางเดียวปี่ใน เพลงสาริกาชมเดือน สามชั้น
  • ทางเดี่ยวปี่ใน เพลงวิเวกเวหา สามชั้น
  • ทางเดียวปี่ใน เพลงกล่อมนารี สามชั้น
  • ทางเดี่ยวขลุ่ยเพียงออ เพลงพญาโศก สามชั้น
  • ทางเดี่ยวจะเข้ เพลงจีนขิมใหญ่
  • ทางเดี่ยวซอสามสาย เพลงบุหลันลอยเลื่อน สองชั้น
  • ทางเดี่ยวปี่ใน เพลงพญาโศก สามชั้น
  • ทางเดี่ยวระนาดเอก เพลงนกขมิ้น สามชั้น
  • ทางเดี่ยวระนาดเอก เพลงต้นเพลงฉิ่ง สามชั้น
  • ทางเดี่ยวระนาดเอก เพลงสรรเสริญพระบารมี
  • ทางเดี่ยวฆ้องวงเล็ก เพลงมุล่ง ชั้นเดียว
  • ทางเดี่ยวระนาดเอก เพลงพญาโศก เถา
  • ทางเดียวระนาดเอก เพลงมุล่ง สองชั้น
  • ทางเดียวระนาดทุ้ม เพลงมุล่ง ชั้นเดียว
ประเภทเพลงลูกหมด ได้ประพันธ์
  • เพลงลูกบทสำเนียงฝรั่งเศส
ประเภทเพลงรัว ได้ประพันธ์
  • เพลงรัวสำเนียงญวน
ประเภทเพลงลา ได้ประพันธ์
  • เพลงเต่ากินผักบุ้ง สองชั้น (ทางเดี่ยวปี่ใน)
ประเภทเพลงเร็ว ได้ประพันธ์
  • เพลงเร็วปิยะนาฏ
ประเภทเพลงเถา ได้ประพันธ์
  • เพลงทักษิณสวรรค์ เถา
ประเภทเพลงทางเปลี่ยน ได้ประพันธ์
  • เพลงนาคบริพัตร สองชั้น
  • เพลงกาเรียนทอง สองชั้น
  • เพลงเต่ากินผักบุ้ง
ประเภทหน้าทับ ได้ประพันธ์หน้าทับใหม่ขึ้น 2 หน้าทับคือ
  • หน้าทับสดายง เถา (กลองสองหน้า)
  • หน้าทับเจ้าเซ็น ชั้นเดียว

ผลงานวิชาการ

งานวิจัย

  • วิเคราะห์เนื้อทำนองหลักของเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา
  • ความถี่ของเสียงดนตรีไทย
  • ที่มาของเพลงสรรเสริญพระบารมี

บทความ

  • ดนตรีไทยกับสังคมไทย
  • ดนตรีไทยปริทรรศน์
  • ที่มาของปี่ขลุ่ยเอามือซ้ายขึ้นข้างบน
  • ดนตรีไทยในจุฬาฯ ช่วง พ. ศ. 2525 ถึงปัจจุบัน
  • ระบบดนตรีที่ใช้กับการแสดงหนังใหญ่
  • ผู้อ่านโองการไหว้ครูดนตรีไทย
  • การปฏิบัติตนของผู้เข้าร่วมพิธีไหว้ครูดนตรีไทย
  • คุณสมบัติของผู้บรรเลงในพิธีไหว้ครู
  • การจัดสถานที่และเขตปริมณฑลในพิธีไหว้ครูดนตรีไทย
  • คุณค่าของดนตรีไทย

อาจารย์บุญช่วย โสวัตร ได้รับการครอบให้เป็นผู้อ่านโองการไหว้ครูดนตรีไทยจาก อาจารย์มนตรี ตราโมท และอาจารย์ประสิทธิ์ ถาวร

ในปีพุทธศักราช 2557 ได้รับปริญญาศิลปกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ดนตรีไทย จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

————————————————

ที่มา คัดและปรับจาก
สูจิบัตร วงจุฬาวาทิต เมื่อวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2556
ข้อมูลจากบันทึกข้อมูลโครงการ ร้อยคนดนตรี 100 ปี จุฬาฯ