สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญชมนิทรรศการ “ใครสร้างคำ คำสร้างใคร”

จัดแสดงวันที่ 29 กรกฎาคม ถึง 27 กันยายน 2565
ณ ชั้น 1 ห้องนิทรรศการหมุนเวียน อาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พิธีเปิดนิทรรศการ วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 เวลา 17.00 น. รองศาสตราจารย์ ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ


จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้มาจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ “คำ” กล่าวคือเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานและร่วมอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชมรมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยในการใช้ภาษาไทย ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา รัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ และในพ.ศ. 2565 นี้ถือเป็นปีครบรอบ 60 ปีที่เสด็จพระราชดำเนินมายังคณะอักษรศาสตร์และร่วมประชุมในเรื่องดังกล่าว

“คำ” เป็นหน่วยพื้นฐานที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร หากไม่มีคำ มนุษย์ก็อาจไม่สามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้ ตลอดจนอารมณ์ และความรู้สึกของตนได้ ในตำราวจีวิภาค ของพระยาอุปกิตศิลปสาร กล่าวว่า “คำ” คือ “เสียงที่พูดออกมา ได้ความอย่างหนึ่ง ตามความต้องการของผู้พูดจะเป็นกี่พยางค์ก็ตาม เรียกว่าคำหนึ่ง” แม้ว่าในการสื่อสาร เราอาจพูดและเขียนเป็นวลีหรือประโยค แต่ข้อความเหล่านั้นก็ล้วนประกอบขึ้นจากการนำคำที่มีความหมายต่าง ๆ มารวมกันเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า คำเป็นหน่วยพื้นฐานที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร

“คำ” ไม่ได้เป็นเพียงหน่วยในภาษาที่ใช้เพื่อสื่อความหมายเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับผู้ใช้ภาษาและสังคมวัฒนธรรมด้วย การศึกษาคำจึงช่วยให้เราเข้าใจระบบความคิด ค่านิยม และความเชื่อของคนในสังคม ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการศึกษาปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม นิทรรศการส่วน “คนสร้างคำ คำสร้างชาติ” นำเสนอมิติทางประวัติศาสตร์ของ “คำ” ผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการบัญญัติศัพท์ในยุคสมัยที่สยามก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ ขณะที่ “คำไทย คำถิ่น” ชี้ชวนให้เราพินิจความหลากหลายของภาษาในสังคมไทยผ่านกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับความซับซ้อนของคำซ้อน และส่วนสุดท้าย “คำสร้างใคร” ถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างคำกับการนำเสนอตัวตนของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนในวัฒนธรรมย่อยที่สร้างปรากฏการณ์ทางภาษาในโลกยุคดิจิทัลอย่างน่าสนใจ ในท้ายที่สุด คำถามที่ว่า “ใครสร้างคำ คำสร้างใคร” ไม่ได้มีคำตอบที่สำเร็จรูปเพียงหนึ่งเดียว หากแต่เป็นคำถามที่ชวนให้ขบคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “คนไทย” กับ “คำไทย” ต่อไปอย่างไม่รู้จบ

พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไม่เสียค่าเข้าชม
เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 – 16.30 น.
ปิดให้บริการวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ
สอบถามโทร. 02-218-3645-6

#ChulaMuseum #CUArtCulture #สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมจุฬาฯ