ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เป็นวงดนตรีไทยประเภทหนึ่งที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จุดเด่นสำคัญ คือ เป็นวงดนตรีที่มีเสียงทุ้มนุ่มนวล โดยตัดเครื่องดนตรีที่มีเสียงแหลมออก ใช้สำหรับบรรเลงในอาคาร และงานเลี้ยงรับรองแบบยุโรป  ต่อมาจึงมีการประพันธ์และปรับปรุงเพลงเพื่อวงดนตรีชนิดนี้เป็นการเฉพาะ อีกทั้งยังเกิดการแสดงละครร่วมกับวงดนตรีนี้ซึ่งมีรูปแบบพิเศษอีกด้วย

วงดนตรีที่ได้ขาดการสืบทอดไปนานจนแทบจะสูญหาย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการเสาะหา เก็บข้อมูลทั้งด้านประวัติศาสตร์และการบรรเลง จนสามารถนำวงดนตรีปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์กลับมาบรรเลงได้อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2530 และได้บรรจุไว้ในหลักสูตรของคณะศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อให้นิสิตได้รับความรู้สืบทอดและเผยแพร่ต่อไป

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดการแสดงดนตรีไทย “ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์” ขึ้นเป็นประจำในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 26 มีนาคม ของทุกปีและเปิดให้ประชาคมจุฬาฯ และบุคคลทั่วไปได้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ในปัจจุบันลักษณะการแสดงดนตรีของงานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) การบรรเลงของวงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ โดยนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดและสืบทอดจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และ (2) คือการบรรเลงของ ‘วงดนตรีไทยสายใยจามจุรี’ คือวงดนตรีที่เป็นการรวมตัวกันของนิสิตเก่า คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยมีองค์ประธานคือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ เพลงที่บรรเลง เนื้อร้องเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน โดยทรงมีแนวพระราชดำริให้ อาจารย์ ดร. สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติและศิลปินแห่งมหาวิทยาลัย แต่งเพลงขึ้นใหม่ประกอบบทพระราชนิพนธ์ และให้มีลักษณะเป็นดนตรีร่วมสมัย โดยนำวงซียูแบนด์ซึ่งเป็นวงดนตรีสากลมาร่วมบรรเลงด้วย พร้อมกับการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย

สำหรับการแสดงในปี พ.ศ. 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเลือกวรรณกรรมเยาวชนจีนของนักเขียนผู้ทรงอิทธิพล ‘เย่ชิงเถา’ เรื่อง “รูปสลักหินวีรบุรุษโบราณ” ซึ่งให้แนวคิดเรื่องความเสมอภาคในสังคม ทั้งนี้ ทรงแปลวรรณกรรมดังกล่าวเป็นบทกลอนภาษาไทย และพระราชทานบทพระราชนิพนธ์ดังกล่าวให้อาจารย์ ดร. สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ แต่งเพลงประกอบขึ้นใหม่ โดยให้มีทำนองไทยผสมผสานสำเนียงจีน พร้อมทั้งสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยสไตล์จีน นับเป็นนวัตกรรมทางดนตรีและนาฏศิลป์ที่เกิดขึ้นใหม่

กิจกรรมนี้จึงทำให้เกิดประโยชน์หลายประการ เช่น

  1. วงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ได้รับการสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ผ่านบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกสู่สถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ ทั่วประเทศ
  2. กระตุ้นความสนใจให้คนรุ่นใหม่เกิดความชื่นชม และสนับสนุนดนตรีไทย
  3. ส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านดนตรีร่วมสมัย การผสมผสานดนตรีไทยให้เข้ากับดนตรีอาเซียน และดนตรีตะวันตก
  4. ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี และความสามัคคีแก่ประชาคมจุฬาฯ ทุกหมู่