โครงการส่งเสริมและสนับสนุนศิลปินไทยในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เริ่มขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ในสมัยอธิการบดี ศ.ดร. เกษม สุวรรณกุล ผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยในสมัยนั้นเห็นว่าการสร้างสรรค์งานศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยยังไม่ได้รับความนิยม มหาวิทยาลัยจึงเล็งเห็นคุณค่าของผลงานศิลปกรรมที่เกิดขึ้นและตระหนักว่าผลงานเหล่านั้นจะมีความสำคัญและเป็นสิ่งทรงคุณค่าในอนาคต อีกทั้งเป็นการสนับสนุนศิลปินไทยให้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์และสามารถผลิตผลงานต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของโครงการรวบรวมผลงานศิลปกรรมของศิลปินไทย และมีการสนับสนุนงบประมาณให้กับงานด้านการอนุรักษ์และเผยแพร่ผลงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มต้นด้วยการจัดแสดงงานศิลปะในอาคารสถานที่ต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศทางศิลปะขึ้นในมหาวิทยาลัย  ต่อมาจึงขยายบทบาทในการสนับสนุนศิลปินและการสร้างความรู้ความเข้าใจในงานศิลปะแก่ประชาคมจุฬาฯ ชุมชนและสังคม โดยการจัดตั้งหน่วยงานตามลำดับดังนี้

  • หอศิลป์จามจุรี (Chamchuri Art Gallery) ต้นแบบขององค์กรด้านศิลปะที่ไม่แสวงหากำไรในประเทศไทย เป็นสถานที่จัดแสดงและเผยแพร่ผลงานศิลปะของนิสิต บุคลากร และศิลปินสู่สาธารณชน
  • พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย (Chula Museum) แหล่งเรียนรู้ แหล่งข้อมูลที่เผยแพร่ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ในรูปแบบการนำเสนอที่ทันสมัย เป็นศูนย์กลางระหว่างพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • นิทรรศสถาน (Nithas-Sthan Exhibition Hall) จัดแสดงผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและระดับโลก รวมถึงงานแสดงนิทรรศการที่ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ

จากการขยายบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านศิลปะของมหาวิทยาลัย สามารถสร้างประโยชน์และคุณค่าต่อทรัพยากรบุคคล ชุมชนและสังคม ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

การเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และสนับสนุนการสร้างงานศิลปะ

หอศิลป์จามจุรี พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย และนิทรรศสถาน ในความดูแลของสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จัดแสดงนิทรรศการจำนวนกว่า 50 นิทรรศการ/ปี จัดเวิร์คช้อปงานศิลปะสำหรับเด็ก สำหรับผู้ใหญ่ สำหรับบุคลากรภายในและภายนอก มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางปัญญาและสุนทรีย์ ซึ่งช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างและพัฒนาความคิดด้วยความอ่อนโยน

  • กิจกรรมสำหรับเด็ก Workshop “Art Kids: คิดหรรษา” เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมนอกห้องเรียน ฝึกสมาธิ เข้ากลุ่มกับเพื่อนใหม่ ๆ ที่ต่างโรงเรียน แตกต่างทางสังคม ฝึกปฏิบัติงานสร้างสรรค์ เสริมสร้างความสุข มีกิจกรรมยามว่างที่เป็นประโยชน์ เว้นว่างจากการเล่นกับคอมพิวเตอร์ และสร้างความคุ้นเคยในการมาชมนิทรรศการในหอศิลป์
  • กิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่ ถนนสายวัฒนธรรม Workshop: ศิลปะหรรษา อาทิ Workshop – Ceramic  “Pottery- Magic Pets” / Workshop ศิลปะหรรษา: สีสันและดอกไม้ เป็นการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย และบุคคลที่สนใจโดยทั่วไป มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการทำงานศิลปะเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเข้าใจเมื่อเข้ามาชื่นชมผลงานภายในหอศิลป์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมอาชีพหากนำไปประยุกต์กับการทำหัตถศิลป์ เพื่อเพิ่มรายได้ภายในครัวเรือน เพราะปัจจุบันสิ่งสำคัญการศึกษานอกห้องห้องเรียนตามแนวคิดของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 นั้น จะต้องเรียนเพื่อรู้ (Learning  to know ) เรียนเพื่อปฏิบัติ (Learning to do) เรียนรู้เพื่อชีวิต (Lear) อีกทั้งประโยชน์สำคัญในการอบรมคือ ต้องการให้ผู้เรียนได้รับรสสุนทรียศิลป์ เกิดความจรรโลงใจ ฝึกสมาธิ การวางแผนการทำงาน และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสร้างกิจกรรมนันทนาการให้แก่ตัวเอง และผู้ใกล้ชิดได้
  • โครงการจัดแสดงงานศิลปะของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ส่งเสริมให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีความรู้และสนใจในการสร้างงาน รวมทั้งเข้าใจในงานศิลปะมากขึ้น
นวัตกรรมกับการดำเนินกิจกรรมในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2563 เป็นช่วงที่มีการประกาศปิดสถานที่ราชการและพื้นที่ให้บริการต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อป้องการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้พื้นที่แสดงงานศิลปะปิดทำการชั่วคราว ส่งผลให้ศิลปินจำนวนมากขาดโอกาสและพื้นที่ในการแสดงงาน ประสบปัญหาจากภาวะด้านเศรษฐกิจ และผู้ชมงานศิลปะก็ไม่สามารถออกมาชมงานศิลปะในพื้นที่แสดงงานได้เช่นกัน อันเป็นผลกระทบที่อาจจะทำให้วงการศิลปะหยุดนิ่ง  ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนวงการศิลปะให้ยังดำเนินกิจกรรมอยู่ได้ อีกทั้งยังเป็นช่องทางการสนับสนุนและให้โอกาสศิลปินได้แสดงผลงาน จุฬาฯ จึงจัดกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

  • โครงการ Artist of the day เป็นโครงการแรกที่สามารถจัดทำได้โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นสื่อกลางสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ศิลปินผ่านผลงานศิลปะ โดยการคัดเลือก 1 ศิลปิน 1 ภาพผลงาน ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ของหอศิลป์จามจุรีทุกวันอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563
  • โครงการ Art Exhibition Online นำผลงานศิลปะของศิลปินมาจัดทำเป็นคลิปสั้นๆ ประมาณไม่เกิน 3 นาที เผยแพร่บนสื่อออนไลน์ของหอศิลป์จามจุรี เดือนละ 4 นิทรรศการ (ปีละ 48 นิทรรศการ)  หอศิลป์จามจุรีจัดทำแพลตฟอร์มศิลปะออนไลน์นี้ขึ้นเพื่อสนับสนุนธุรกิจศิลปะในโลกดิจิตอล ระหว่างศิลปินและผู้สนใจซื้องาน
  • Workshop: ศิลปะหรรษา ONLINE  พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยจัดทำวิดีทัศน์เวิร์คช้อปออนไลน์ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางศิลปะโดยใช้อินเตอร์เน็ต(โลก cyber) เป็นสื่อกลางระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน จุดเด่นคือ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้จากทุกแห่งทั่วโลก และไม่จำกัดช่วงเวลา รวมทั้งสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย
สืบสานองค์ความรู้อันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
  • มหาวิทยาลัยสนับสนุนงบประมาณมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 30 ปี จึงเป็น 1 ใน 2 องค์กรในประเทศไทยที่มีผลงานภาพวาดของศิลปินไทยไว้ในครอบครองจำนวนมาก ทั้งนี้ ผลงานศิลปะดังกล่าวเป็นของศิลปินทรงคุณวุฒิและมีชื่อเสียงในปัจจุบัน จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญที่แสดงถึงพัฒนาการของงานศิลปกรรมสมัยใหม่(งานศิลปะตะวันตก งานศิลปะในโลกสมัยใหม่) ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันที่มีความสมบูรณ์
  • โครงการเก็บข้อมูลประวัติและผลงานศิลปินทรงคุณวุฒิ “เชิดชูเกียรติศิลปิน” จัดทำเป็นวิดีทัศน์เพื่อจัดเก็บและเผยแพร่ สืบทอดองค์ความรู้ ข้อมูลการสร้างสรรค์งานศิลปะของประเทศไทย
  • โครงการเก็บข้อมูลองค์ความรู้การอนุรักษ์สงวนรักษาผลงานศิลปกรรม เพื่อเก็บข้อมูลความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนและวิธีการอนุรักษ์งานศิลปกรรมอย่างถูกต้อง เพื่อความยั่งยืนของผลงานศิลปกรรม
สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศและนานาชาติ
  • “Forest of Play” 11 กรกรฎาคม – 25 กันยายน 2562 ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม  สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับ PlanToys Thailand บริษัทผู้ผลิตของเล่นไม้ที่ใส่ใจในความปลอดภัยของเด็กและผลิตของเล่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ จัดนิทรรศการแบบมีส่วนร่วม (Hands-On Exhibition) โดยได้จำลองพื้นที่ในห้องนิทรรศสถานเป็นพื้นที่การเรียนรู้และการเล่นที่เหมาะสมกับการส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กในช่วงอายุหกปีแรก  นิทรรศการนี้ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองและโรงเรียน นำนักเรียนเข้าเล่นนิทรรศการจำนวนมากกว่า 25,000 คน
  • 2-26 ธันวาคม 2562 ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม  สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (The Craft Product Research Unit, Chulalongkorn University) โดยเชิญศิลปินนานาชาติด้านเซรามิกและแก้วจาก 7 ประเทศ คือ โครเอเชีย ตุรกี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อิตาลี ญี่ปุ่น และไทย มาทำเวิร์คช้อป เสวนาแลกเปลี่ยนเทคนิคระหว่างนิสิต นักศึกษา อาจารย์จากหลายสถาบัน กับศิลปิน เพื่อสร้างประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน และจัดแสดงผลงาน เผยแพร่สู่สาธารณะชน

ฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์
สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น.
โทร. 02-218-3645 -6
Facebook: www.facebook.com/chulamuseum/ / www.facebook.com/chamchuriartgallery
แผนที่: https://goo.gl/maps/Xvf1B469MJToPjcV9