จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพื้นที่ทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมหลายแห่ง ซึ่งมีความสมบูรณ์พร้อมทั้งด้านประวัติศาสตร์ องค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรม อาคารสถานที่ ภูมิทัศน์ อนุสรณ์สถาน และงานด้านศิลปกรรม ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเอาใจใส่ ดูแล ทำนุบำรุงและสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของทุกคนในสังคม ดังนี้
1. พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง: กิจกรรมเพื่อเยาวชน ชุมชน และนักท่องเที่ยว ในปี 2566-2567
“พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างและสถาปนาขึ้นเป็นพระราชวังในปี พ.ศ. 2432 และปรับเปลี่ยนใช้เป็นส่วนราชการต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลานาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับมอบสิทธิการใช้ที่ดินในเขตพระราชฐานดังกล่าวและเมื่อกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนพระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง เป็นโบราณสถานของชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการบูรณะพื้นที่ร่วมกับกรมศิลปากรเรื่อยมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2547
ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดบริการมาเป็นเวลา 20 ปี โดยไม่เก็บค่าเช้าชม ด้วยบรรยากาศที่ร่มรื่น สวยงาม จึงเป็นสถานที่ที่คนในชุมชนเกาะสีชังมาใช้เวลากับครอบครัว ออกกำลังกายยามเย็น พาลูกหลานมาพักผ่อนหย่อนใจ และสำหรับนักท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ฯ ถือเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของเกาะสีชังที่ห้ามพลาด แต่ละปีจึงมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมรวมกว่า 250,000 คน
นอกเหนือจากงานบริการการท่องเที่ยวแล้ว พิพิธภัณฑ์ฯ ยังได้จัดกิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่เยาวชนท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ของโบราณสถานสำคัญ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ความรักถิ่นกำเนิด สนับสนุนการอนุรักษ์และสร้างจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างรู้คุณค่า รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ของชุมชนชาวเกาะสีชังอย่างสม่ำเสมอ อาทิ
1) งานวันสถาปนาพระจุฑาธุชราชฐาน ครบ 132 ปี มีพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย และการปล่อยสัตว์น้ำลงสู่ทะเล
2) งานวันปิยมหาราช มีพิธีบวงสรวงถวายราชสักการะ พิธีวางพวงมาลา โดยมีนิสิตจากโครงการจุฬาฯ-ชนบทนำถวายบังคม ร่วมด้วยส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ โรงเรียนและชุมชนหมู่บ้านต่าง ๆ เข้าร่วมประมาณ 30 หน่วยงาน และการปล่อยสัตว์น้ำลงสู่ทะเล
3) โครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นรุ่นที่ 16 หรือการอบรมยุวมัคคุเทศก์ โดยนำนักเรียนจากโรงเรียนในท้องถิ่นมาเข้าค่ายอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพระราชวัง และโบราณสถานภายในบริเวณ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมทั้งสร้างงาน สร้างรายได้เสริมแก่นักเรียนที่มาปฏิบัติหน้าที่ผู้นำชมแก่นักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดอีกด้วย
4) โครงการพระจุฑาธุชสัญจร ครั้งที่ 14 พานักเรียนจากโรงเรียนในเกาะสีชัง ไปทัศนศึกษา ณ พิพิธภัณฑ์วังสวนบ้านแก้วและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี จังหวัดจันทบุรี เพื่อการเรียนรู้ด้านพิพิธภัณฑ์และบริบททางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ
5) กิจกรรมวันวิสาขะบุรณมี ในวันวิสาขบูชา ณ เจดีย์อุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร และการจัดการประกวดโคมประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ เพื่อดำเนินตามพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 5 และรักษาประวัติศาสตร์สำคัญของเกาะสีชังไว้สืบไป
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ฯ ยังได้เข้าร่วมโครงการวิจัยและสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเกาะสีชัง ซึ่งดำเนินการโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 2 โครงการ คือ (1) โครงการไทยอารี ปีที่ 3 เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ด้วยการฝึกอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีในการสื่อสาร เป็นต้น (2) โครงการการจัดการทุนทางธรรมชาติและทุนทางวัฒนธรรมของเกาะสีชังเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปีที่ 2 ซึ่งเป็นการสนับสนุนและกระตุ้นการสร้างรายได้ด้วยการพัฒนาสินค้าและผลผลิตทั้งด้านอาหาร หัตถกรรมท้องถิ่น และสินค้าที่คัดสรรของชุมชน โดยให้พื้นที่ ออกแบบผลิตภัณฑ์ บริหารการจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวและกลุ่มเป้าหมายในปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง
การเข้าชม
เปิดทำการวันอังคาร ถึง วันอาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ปิดเฉพาะวันจันทร์)
เวลา 9.00-17.00 น.
โทร. 038-216-416
ไม่เก็บค่าเข้าชมสถานที่
https://www.facebook.com/phrachudadhuj
2. อาคารจักรพงษ์: นิทรรศการประวัติศาสตร์ของการอุดมศึกษาไทย
ตึกจักรพงษ์นับเป็นอาคารทรงคุณค่าหลังหนึ่งของมหาวิทยาลัย สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2475 มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น เริ่มแรกใช้เป็นที่ตั้งขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม มีพื้นที่ 2 ชั้น โดยชั้นที่ 1 จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน และพื้นที่ชั้น 2 จัดแสดงนิทรรศการถาวร ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยนิทรรศการทั้งหมดจะบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นทั้งในมหาวิทยาลัยและสังคมที่เกี่ยวข้องกัน รวมทั้งเป็นที่ประดิษฐาน “พระเกี้ยวพระราชทาน” ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยด้วย
ในปี 2567 ได้มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนชั้น 1 ในหัวข้อ “ปกเกล้าฯชาวจุฬาฯ” เป็นการจัดแสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัยด้วยเป็นช่วงเวลาแห่งการจบการศึกษาของบัณฑิตจุฬาฯ ครั้งแรกใน ปี 2473 ทางด้านเวชบัณฑิต นิทรรศการจัดแสดงการเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนั้น เอกสารสำคัญ รูปถ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับเป็นข้อมูลสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีบัญฑิตจบการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรก ส่วนห้องนิทรรศการถาวร ชั้น 2 จัดแสดงนิทรรศการ “สายพระเนตรอันยาวไกล สู่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงสยาม” ห้องแรกกล่าวถึงตั้งแต่ครั้งเริ่มต้นตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนฯ (ก่อนเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และห้องที่สองจัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่สถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งสองนิทรรศการนั้น ได้เพิ่มรูปแบบวิธีการสื่อสารให้แก่ผู้ชมมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีการบรรยายด้วยตัวอักษร ภาพถ่ายและวัตถุจัดแสดงแล้ว ยังมีการจัดทำสื่อวีดิทัศน์สำหรับผู้ที่ต้องการรับชมด้วยภาพและเสียง มีการจัดทำเนื้อหาฉบับเต็มในลักษณะ E-Book โดยผู้ชมสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารของตนเองถ่าย QR Code สำหรับรับชมและเข้าถึงเนื้อหาได้ภายหลัง
ห้องที่สาม บนชั้น 2 เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมร่วมกับนิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่น 2513 ในโอกาสครบการเป็นน้องใหม่จุฬาฯ ครบ 50 ปี จัดงบประมาณสนับสนุนร่วมกับงบประมาณของสำนักฯ โดยมีเอกสาร สิ่งจัดแสดงและข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
นิทรรศการ ณ ตึกจักรพงษ์ นับเป็นองค์ความรู้สำคัญ ที่ถ่ายทอดถึงแนวพระราชดำริ พระบรมราโชบาย ประวัติศาสตร์การพัฒนาการศึกษาชาติ โดยรวบรวมข้อมูลมาจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ มีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิหลายท่าน ทำให้อาคันตุกะผู้มาเยือนมหาวิทยาลัย ประชาคมจุฬาฯ และผู้สนใจ ที่มาชมนิทรรศการ ได้ซึมซับ ตระหนักรู้ ภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัย ประเทศชาติ รวมทั้งทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้ประดิษฐานและสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสองพระองค์ และความตั้งใจของปูชนียบุคลอีกหลายท่านที่มีส่วนสำคัญในก้าวสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยในครั้งนั้น
หอประวัติจุฬาฯ อาคารจักรพงษ์
เปิดบริการวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.30-16.00 น.
แผนที่: https://goo.gl/maps/4BBjwYdvRDivQBW28
ไม่เสียค่าเข้าชม
ติดต่อสอบถาม
โทร. 02-218-7098
Facebook: หอประวัติจุฬาฯ