การสืบสานและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมถือเป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากว่า 50 ปี โดยหน่วยงานหลักของมหาวิทยาลัย อาทิ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม สำนักบริหารกิจการนิสิต และคณะที่มีการเรียนการสอนที่คาบเกี่ยวกับเรื่องศิลปวัฒนธรรม เช่น คณะครุศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นต้น โดยมีการดำเนินกิจกรรมตามพันธกิจดังกล่าวในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ไทย การแสดงดนตรีตะวันตก การแสดงละครเวที เป็นต้น ซึ่งในช่วงปี 2566-2567 ได้จัดกิจกรรมที่เป็นรายการประจำต่อเนื่องทุกปี และกิจกรรมใหม่ ๆ รวมกว่า 60 งาน ทั้งภายในมหาวิทยาลัย ภายนอกมหาวิทยาลัย ในต่างจังหวัด และในต่างประเทศ โดยความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนี้
การแสดงดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทยและพื้นบ้านไทย
1. “ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์” เป็นการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ไทยขั้นสูง ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสืบทอดและพัฒนาให้คงอยู่สืบไป โดยมีการเรียนการสอนในหลักสูตรของนิสิตทางดนตรีไทยและจัดแสดงปีละ 1 ครั้ง ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย โดยจัดแสดงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 และต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี จนถึงปัจจุบัน
2. วงดนตรีไทยสายใยจามจุรี โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานวง และพระราชนิพนธ์บทที่จัดบรรเลง อาจารย์ ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติและศิลปินแห่งมหาวิทยาลัย ประพันธ์และบรรจุเพลง ซึ่งนับเป็นการพัฒนาและผสมผสานวงดนตรีไทย วงดนตรีตะวันตกและวงดนตรีอื่น ๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกันในแต่ละปี โดยเสด็จพระราชดำเนินและทรงดนตรีร่วมกับวงปีละ 1 ครั้ง มากว่า 20 ปี จนปัจจุบัน
3. รายการฟังดนตรีที่จุฬาฯ ทุกศุกร์แรกของเดือน ปีละ 12 ครั้ง จัดการแสดงต่อเนื่องมากว่า 30 ปี โดยแบ่งเป็นการแสดงของวงดนตรีไทย 6 ครั้ง และวงดนตรีร่วมสมัยหรือไทยประยุกต์ อีก 6 ครั้ง
- วงดนตรีไทย มีทั้งวงดนตรีระดับเชี่ยวชาญ เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ และวงดนตรีระดับนิสิตนักศึกษา เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์
- วงดนตรีร่วมสมัยหรือไทยประยุกต์ เพื่อตอบโจทย์ความสนใจและการสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งการผสมผสานเครื่องดนตรี แนวคิด และบทเพลง
4. โครงการเผยแพร่ดนตรีและนาฏศิลป์ไทยในต่างประเทศ ดำเนินการปีละ 1-2 ครั้ง โดยในปีนี้ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ นำนิสิตและคณาจารย์ไปแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ไทยเพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบ 267 ปี ของราชวงศ์ Mangkunagaran ณ เมือง SOLO(SURAKARTA) ประเทศอินโดนีเซีย ตามคำเชิญของ King of Mangkoenagoro (Sri Paduka Mangkoenagoro.X) คณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานเทศกาล China Qiandongnan International Folk Song Festival และวงจุฬาฯเชมเบอร์เดินทางไปจัดแสดงดนตรีร่วมกับ Beijing Foreign Studies University สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างความสัมพันธ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติ
5. วงปี่พาทย์พิธี บรรเลงประกอบในพิธีไหว้ครูดนตรีไทย เพื่อสืบทอดและอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมสำคัญไว้
6. ชมรมดนตรีไทยสโมสรนิสิตจุฬาฯ, ชมรมศิลปวัฒนธรรมล้านนา, ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน, ชมรมศิลปวัฒนธรรมปักษ์ใต้ เป็นชมรมที่ให้พื้นที่นิสิตที่เป็นคนในภูมิภาคนั้น และนิสิตที่สนใจดนตรีและนาฏศิลป์ดังกล่าว ได้รวมตัวกันบรรเลงดนตรีและจัดแสดงนาฏศิลป์ รวมถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมและประเพณีพื้นถิ่น
การแสดงดนตรีตะวันตก
ภายใต้การบริหารงานของวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ มีการจัดกิจกรรมการแสดงที่หลากหลายรูปแบบ อาทิ วงซิมโฟนีออร์เคสตรา ปีละ 2 ครั้ง, คณะนักร้องประสานเสียง ปีละ 2 ครั้ง, วงวิโอลา ปีละ 2 ครั้ง, วงจุฬาฯเชมเบอร์, วงดนตรีกลุ่มเครื่องมือต่าง ๆ เช่น วงคลาริเน็ต, วงแซกโซโฟน, วงฟลูต, วงเครื่องเป่าลมทองเหลือง, วงเครื่องสาย, วงเครื่องจังหวะ, คณะนักร้องประสานเสียงนิสิตเก่าอาวุโส โดยมีกิจกรรม สับเปลี่ยนหมุมเวียนกันไปทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอในชื่อรายการ “Art Music Series” รวมทั้งชมรมนิสิต คือ ชมรมนักร้องประสานเสียงสโมสรนิสิตฯ (CU Chorus) และชมรมดนตรีสากลสโมสรนิสิตฯ (CU Band)
วงดนตรีตะวันตกทั้งหมดนี้มีการบรรเลงอย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งบทเพลงคลาสสิก เพลงนานาชาติ บทเพลงไทย และเพลงพระราชนิพนธ์
การแสดงละครเวที
ทุกปี คณะนิเทศศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จะจัดการแสดงละครเวทีของแต่ละคณะขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนของภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จัดการแสดงอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์แก่นิสิต อาทิ ความร่วมมือกับศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี (KCC) จัดการแสดงละครเวที World Performances @ Drama Chula เรื่อง “พยัคฆ์น้อยพอร์คชอป (ฉบับทัวร์เกาหลี)” และ BALLAD OF LIFE หรือ ลำนำชีวิต ละครสั้น 3 ตอนรวมเป็นหนึ่ง ในวาระเฉลิมฉลอง 150 ปี ชาตกาล เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นต้น