เดิมพระจุฑาธุชราชฐาน เป็นพระราชวังบนเกาะแห่งเดียวในประเทศไทย สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2432 โดยตั้งนามของพระราชวังตามพระนามของพระราชโอรสซึ่งประสูติ ณ เกาะแห่งนี้ และได้ยกเลิกการใช้งานในเวลาต่อมา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับมอบสิทธิการใช้ที่ดินจากกรมธนารักษ์ ในปี พ.ศ. 2521 โดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่ง จัดตั้งสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล และศูนย์ฝึกหัดนิสิต พร้อมทั้งดูแลโบราณสถาน และโบราณวัตถุในเขตพื้นที่ดังกล่าว จำนวนกว่า 219 ไร่ และเมื่อกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนพระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง เป็นโบราณสถานของชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการร่วมกับกรมศิลปากรเรื่อยมา นับตั้งแต่ พ.ศ. 2533 โดยบูรณะอาคารที่ยังคงเหลืออยู่ 5 หลัง ได้แก่ พระอุโบสถเจดีย์ วัดอัษฎางคนิมิตร เรือนผ่องศรี เรือนอภิรมย์ เรือนวัฒนา และเรือนไม้ริมทะเล นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างและภูมิสถาปัตย์อื่น ๆ ภายในพระราชฐาน เช่น สระน้ำ น้ำพุ น้ำตก ถ้ำ สวน ทางเดิน ประตู บันได สะพาน เขื่อน ฯลฯ ซึ่งมีการตั้งชื่อพระราชทานที่มีความไพเราะคล้องจองกัน อันเป็นสิ่งทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น
ในโอกาสเฉลิมฉลองในวโรกาสวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบ 150 ปี ในปี พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยจึงได้บูรณะ ปรับปรุง และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ประเภทโบราณสถานโดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ และจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารต่าง ๆ เผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์แก่เยาวชนชาวเกาะสีชังและประชาชนโดยทั่วไป
การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ สร้างความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม บนเกาะสีชัง
ด้วยเหตุที่พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐานเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญบนเกาะสีชัง มีภูมิทัศน์ที่สวยงามจากการดูแลบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สวยงามอยู่ตลอดเวลา และตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เดินทางสะดวกด้วยเรือรับ-ส่งทุกชั่วโมง ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมจำนวนกว่า 250,000 คนต่อปี (พ.ศ. 2562) ซึ่งประกอบไปด้วย นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ องค์กร หน่วยงานต่างๆ ที่มาศึกษาดูงานและใช้พื้นที่ในการสัมนาหน่วยงานต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐานจึงมีส่วนสำคัญในการผลักดันและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ชุมชนชาวเกาะสีชังมีรายได้จากการท่องเที่ยวโดยประมาณ 316,545,450 บาท/ปี
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการสร้างงานให้คนในท้องถิ่น โดยจัดให้มีการจ้างพนักงานประจำพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน เพื่อบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ประจำ จำนวน 24 คน และจัดจ้างดูแลรักษาภูมิทัศน์ สวน ต้นไม้ จำนวน 20 คน ในการดูแลพื้นที่ 219 ไร่ ให้สวยงาม พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี
สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่เยาวชนท้องถิ่น และสร้างความภาคภูมิใจ ความรักถิ่นกำเนิด
- โครงการอบรมยุวมัคคุเทศก์ โดยนำนักเรียนจากโรงเรียนในท้องถิ่นมาเข้าค่ายอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพระราชวัง และโบราณสถานภายในบริเวณ เช่น พระเจดีย์อุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร พร้อมสอดแทรกความรู้เชิงสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก นำมาปรับให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของเกาะสีชัง ตัวอาคารต่างๆ จึงถูกออกแบบให้มีการระบายความร้อนโดยใช้ลมธรรมชาติ และที่สำคัญคือการออกแบบภูมิสถาปัตย์ของพระราชวังให้สามารถกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมจึงมีการทดสอบวัดระดับความรู้ และมอบเกียรติบัตร รวมทั้งสร้างงานให้มาปฏิบัติหน้าที่ไกด์นำชมในช่วงวันหยุด สร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และสร้างรายได้เสริมแก่นักเรียน
- การจัดนิทรรศการในอาคารต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ พระราชประวัติ เหตุการณ์สำคัญในเกาะสีชังและสิ่งปลูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แก่ผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ จำนวน 5 อาคาร
- โครงการพระจุฑาธุชสัญจร เป็นโครงการที่พานักเรียนจากโรงเรียนในเกาะสีชัง ไปทัศนศึกษาในจังหวัดอื่น ๆ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
การอนุรักษ์และสร้างจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างรู้คุณค่า
- การจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำและความเกี่ยวข้องต่าง ๆ ของทะเลอ่าวไทยในบริเวณเกาะสีชัง ใน พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล “ชลทัศนสถาน” เพื่อเสริมความรู้แก่นักเรียน ชุมชนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว ให้มีความรักและเข้าใจทะเลไทย มีจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดบริเวณชายหาด สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยกับสัตว์ทะเล และปกป้องสัตว์ทะเลจากการคุกคามของการประมงผิดกฎหมาย
- โครงการปลูกปะการังในทะเลบริเวณพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกับสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชักชวนประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟู และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเกาะสีชัง สร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
- งานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์น้ำเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของเกาะสีชัง โดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ
- กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา “วันวิสาขบูชา”จัดขึ้นตามแบบที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ เกาะสีชัง โดยจัดให้ชาวชุมชนและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา มีการจัดการประกวดโคมเป็นพุทธบูชา และการแสดงสมโภชเฉลิมฉลอง มีผู้ร่วมงานปีละประมาณ 400-500 คน
- กิจกรรมวันปิยมหาราช กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นที่รักของประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า มีกิจกรรมการวางพวงมาลา และการบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนร่วมกัน เช่น การทำความสะอาดพื้นที่ การปล่อยพันธุ์ปลา เป็นต้น มีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 300 คน
- กิจกรรมวันคล้ายวันสถาปนาพระราชฐาน ตรงกับวันที่ 10 สิงหาคม ของทุกปี ประกอบด้วยการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และผู้เกี่ยวข้องที่เคยอยู่ ณ พระราชฐานแห่งนี้ รวมทั้งเพื่อเป็นการพบปะกันของคนในชุมชน หน่วยราชการ องค์กรเอกชนในท้องถิ่นและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อการมีปฏิสัมพันธ์และสร้างประโยชน์ร่วมกันให้ชุมชน มีการบำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน
- สนับสนุนเทศบาลตำบลเกาะสีชังในการจัดงานรำลึกย้อนยุคของเกาะสีชังภายในพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นงานประจำปีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างรายได้แก่ชุมชน และเพื่อให้ชุมชนชาวเกาะสีชังมีความรักและความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของไทย โดยมีการแต่งตัวย้อนยุค การแสดงดนตรี-นาฏศิลป์ไทย และรับประทานอาหารร่วมกัน
พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยมีความตั้งใจที่จะให้เป็นพื้นที่สำหรับประชาชน นักท่องเที่ยวนานาชาติ และชุมชนชาวเกาะสีชัง โดยมุ่งหวังให้ประโยชน์นั้นกลับสู่ชุมชนเป็นหลัก ทั้งเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนขึ้น สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติทางทะเลที่ดีขึ้นจากการเผยแพร่องค์ความรู้และการสร้างจิตสำนึกที่ดี และที่สำคัญคือการรักบ้านเกิด ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และรักท้องถิ่นในปัจจุบัน รวมทั้งช่วยกันพัฒนาเกาะสีชังให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง
การเข้าชม
เปิดทำการวันอังคาร ถึง วันอาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ปิดเฉพาะวันจันทร์)
เวลา 9.00-17.00 น.
โทร. 038-216-416
ไม่เก็บค่าเข้าชมสถานที่
https://www.facebook.com/phrachudadhuj
การเดินทางไปเกาะสีชัง
โดยสารเรือที่ท่าเรือเกาะลอย ศรีราชา
ใช้เวลาราว 45 นาที ค่าโดยสารคนละ 50 บาท
การเดินทางบนเกาะสีชัง
รถสามล้อสกายแล็ป เที่ยวรอบเกาะ 250 บาท/คัน
รถสองแถว เที่ยวรอบเกาะ 500 บาท/คัน
รถมอเตอร์ไซค์ให้เช่า ไม่ค้างคืน 250 ค้างคืน 300 บาท
ที่พักบนเกาะสีชัง
ราคาตั้งแต่ 500 -12,000 บาท/คืน
บทความปี 2022
ภาษาไทย พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง : กิจกรรม การดูแล และการบูรณะพื้นที่ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ปี 2563-2564 – สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (chula.ac.th)
ภาษาอังกฤษ Phra Chudhadhuj Palace Museum, Koh Si Chang: Activities, Maintenance, and Restoration during the Covid-19 Pandemic, 2020-2021 – Office of Art & Culture, Chulalongkorn University
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง https://www.cuartculture.chula.ac.th/department/phra-chudhadhuj-ratchasthan-palace-museum/