๑๐๐ เรื่องจามจุรี ๑๐๐ ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะกรรมการดำริรูปการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการสอนไปได้ระยะหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเจ้านายหลายพระองค์ที่ทรงมีประสบการณ์ทางการศึกษา ได้ทรงเห็นสมควรให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวนปัญหาและพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการบริหารจัดการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพและมีความเป็นสากลมากขึ้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการดำริรูปการแห่งจุฬาลงกรณ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๓ คณะกรรมการชุดนี้ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งทางด้านการบริหารและวิชาการ โดยได้พิจารณาพระดำริของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ซึ่งได้ทรงเสนอมาก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ รวมทั้งตัวอย่างประกอบจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศด้วย แนวคิดและประเด็นการพิจารณาสำคัญของคณะกรรมการชุดนี้ที่ต่อมาได้มีผลในทางปฏิบัติ เช่น การสร้างความชัดเจนให้แก่สถานภาพของมหาวิทยาลัย การพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาในสาขาต่างๆ
เพิ่มมากขึ้น การวางระเบียบการใช้จ่ายเงินทุนเพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัย เป็นต้น
คณะกรรมการดำริรูปการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย
๑. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธานกรรมการ ทรงเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนราชแพทยาลัยและอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยพระองค์แรก ทรงมีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาแพทยศาสตร์ และการจัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษาในระยะเริ่มแรกด้วย
๒. พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นกรรมการ
๓. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงษ์บริพัตร เป็นกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง
๔. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เป็นกรรมการผู้แทนกระทรวงธรรมการ
๕. อำมาตย์เอก พระยามไหสวรรย์ เป็นกรรมการผู้แทนกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน