ธรรมเนียมปฏิบัติภายหลังเสร็จสิ้นพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีพิธีการถวายราชสักการะและถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้าเป็นนิสิตใหม่ ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมาในการรับน้องใหม่ของจุฬาฯ

หากจะกล่าวถึงที่มา คงต้องย้อนกลับไปถึงสมัยโรงเรียนมหาดเล็ก และโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนั้นมีการนำนักเรียนมหาดเล็ก เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายตัวเข้าเป็น “นักเรียนมหาดเล็ก” ไปปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จออกว่าราชการ หรือทรงบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นการเรียนรู้การปฏิบัติราชการ ทักษะทางการบริหารจากประสบการณ์ที่ได้รับ อันเป็นแบบแผนการศึกษาของนักเรียนมหาดเล็กในเวลานั้น และเมื่อสำเร็จการศึกษา ก็จะต้องเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอีกครั้งหนึ่ง เพื่อถวายบังคมลาไปปฏิบัติราชการในหน่วยราชการต่างๆ ตามความรู้ความสามารถ

ต่อมาในสมัยโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงธรรมเนียมการถวายถวายตัวของนักเรียนไว้เช่นเดิม หากแต่คงเหลือเฉพาะการถวายบังคมลาเมื่อสำเร็จการศึกษาเพื่อออกไปรับราชการในหน่วยราชการต่างๆ เช่นในรัชกาลที่ 5

เมื่อได้ประดิษฐานขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว แม้ว่าจะไม่มีการถวายตัวเป็นนักเรียน ดังเช่นเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 หากแต่เกิดประเพณีใหม่ขึ้น กล่าวคือ การถวายสักการะพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ตึกบัญชาการ (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน) พร้อมกับการปฏิญาณตนต่อคณาจารย์ และนิสิตรุ่นพี่ เบื้องหน้าพระเกี้ยว อันเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และธงตราพระเกี้ยว อันเป็นธงประจำมหาวิทยาลัย เนื้อหาของคำปฏิญาณตนนั้น กล่าวโดยสรุปคือการยึดถือคำขวัญทั้งห้า คือ สามัคคี ประเพณี อาวุโส ระเบียบ และ น้ำใจ พิธีปฏิญาณตนในรูปแบบนี้ เวลาต่อมาได้เลือนหายไปจากความเปลี่ยนแปลงของการรับน้องใหม่

อาศัยที่มาดังกล่าวมาแล้วนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงสืบสานประเพณีอันสำคัญนี้ไว้ เพื่อรักษาและส่งเสริมให้นิสิตได้น้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้พระราชทานกำเนิด ผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัย สำนึกในจุดเริ่มต้นที่พระราชาและประชาชนร่วมกันสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทั้งรักษาประเพณีของ “นักเรียนมหาดเล็ก” อันเป็นต้นกำเนินของมหาวิทยาลัย รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของจุฬาฯ และเชิญชวนตั้งปณิธานในการศึกษาเล่าเรียนของนิสิตใหม่ เพื่อให้การศึกษานั้นเป็น “หลักเฉลิมพระนคร” สมดังพระบรมราชปณิธาน

พิธีถวายสักการะและถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้าเป็นนิสิตฯ จึงเริ่มต้นขึ้นในสมัยของศาสตราจารย์ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้จัดขึ้นครั้งแรกในปีการศึกษา 2540 เพื่อให้นิสิตใหม่ได้ถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผู้ก่อกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกล่าวสัตย์ปฏิญาณแสดงความตั้งใจจริงในการเข้าศึกษาในสถาบันแห่งนี้ เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาตน พัฒนาชาติบ้านเมืองสมดังพระบรมราชประสงค์และปณิธานแห่งมหาวิทยาลัย

พิธีการดังกล่าวมีการปรับปรุงรูปแบบ และจัดองค์ประกอบของพิธี เพื่อให้เป็นการสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ จนเป็นแบบแผนที่ยึดถึงกันมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมา ในปีพุทธศักราช 2558 เริ่มมีการจัดพิธีการของศาสนาต่างๆ ขึ้นเพิ่มเติมในเวลาเดียวกัน สำหรับนิสิตผู้นับถือศาสนาที่มีข้อกำหนดในความเชื่อของแต่ละศาสนา โดยพิธีดังกล่าว ชมรมศาสนศึกษา แผนกต่างๆ ได้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับพิธีในส่วนกลาง ตามคตินิยมและจารีตของศาสนานั้นๆ เช่น ชมรมศาสนศึกษา แผนกคาทอลิก จัดวจนพิธีกรรมในโอกาสเข้าเป็นนิสิตใหม่ ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ (เทวาลัย) เป็นต้น เป็นทางเลือกสำหรับนิสิตใหม่ที่ประสงค์จะเข้าร่วมตามคตินิยมในศาสนาของตน

นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคนสามารถเข้าร่วมในพิธีถวายสักการะและถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้าเป็นนิสิตใหม่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยาวนานของสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นขวัญและกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียน ทั้งบ่งบอกถึงความภาคภูมิใจในปณิธานและเกียรติภูมิของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสำนึกแห่งความกตัญญูที่นิสิตจะได้รับถ่ายทอด ต่อเติม และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นี้ร่วมกัน

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ