นับแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การอุดมศึกษาของไทยก่อร่างชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยความร่วมมือของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและประชาชน รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยกขึ้นจากโรงเรียนมหาดเล็กในรัชกาลที่ 5 ก็พร้อมที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษา

ด้วยการตัดสินพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ที่จะเดินหน้ากิจการอันนำความรุ่งเรืองมาสู่สยามประเทศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

“…พระราชดำรัสต่อไปนั้นว่า ‘นี่คือนิติธรรมของประเทศจัดใหม่’
ซึ่งต้องตัดทางลัดเพื่อให้ถึงที่หมายทัน
เขาจะไปมัวคอยให้ “ดิมานต์” เกิดเสียก่อนแล้วจึงขยับตัวตามอย่างไรได้?
ประเทศจัดก่อนเขาจำเป็นอยู่เองจะต้องเดินตามหนทางซึ่งต้องอ้อมวกเวียน
เพราะต้องคิดเอาเอง ไม่มีแบบอย่างต้องตรัสรู้ต่อยอดจากที่รู้กันแล้ว
ก่อนตรัสรู้ต้องทิ่มผิดทิ่มถูกไปตามเพลงของการค้นคว้า
ฉะนั้น นิติธรรมของเขาก็คอยดูนิมิตร คือ
“ดิมานต์” ว่ามีอะไรเกิดขึ้นจะได้ไหวตัวตามโดยจัดตั้ง “สับพลาย” รับให้พอเหมาะ

เดินเถิดอย่าคอยเวลาเลย อย่างไรเสียเราก็ต้องการมหาวิทยาลัย
ตั้งเสียเดี๋ยวนี้ทีเดียว จะได้เป็นตลาดวิชาของเมืองไทย ไม่เป็นแต่เพียงที่เพาะข้าราชการไว้ใช้’…”
(ตอนหนึ่งจากบทความของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

วันที่ 26 มีนาคม พระพุทธศักราช 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการประดิษฐานมหาวิทยาลัยขึ้นในกรุงสยาม ความตอนหนึ่งว่า

“…บัดนี้ทรงพระราชดำริเห็นสมควรจะขยายการศึกษาในโรงเรียนนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
คือไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น
ผู้ใดที่มีความประสงค์จะศึกษาวิชาชีพชั้นสูงก็ให้เข้าเรียนในโรงเรียนนี้ได้ทั่วกัน
เหตุฉะนั้น ควรประดิษฐานขึ้นเป็นชั้นมหาวิทยาลัย ให้เหมาะแก่ความต้องการแห่งสมัยเสียทีเดียว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นมหาวิทยาลัย พระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเป็นอนุสาวรีย์สมพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง…”

อภิลักขิตสมัย 103 ปีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 26 มีนาคม 2459-2563

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ