24 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธปฏิมาแก้วผลึก
11 กรกฎาคม 2539 – 2563

11 กรกฎาคม 2539 ต่อท้ายงานพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออกที่ลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธปฏิมาแก้วผลึก ซึ่งจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระราชสิริ ในมหามงคลสมัยพระราชพิธีกาญจนาภิเษกซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายนศกเดียวกันนั้น

มูลเหตุที่มีการจัดสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นเนื่องจากในวาระแห่งการเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษก ในโอกาสสำคัญเช่นนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งใดจึงจะเป็นการเหมาะควรแก่โอกาส มีธรรมเนียมอย่างโบราณว่าในแต่ละรัชกาลได้ทรงสร้างหรือมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปแก้วผลึกเป็นของสำคัญประจำรัชกาลเสมอมา หากได้อนุโลมตามประเพณีเช่นนั้นก็น่าจะสมควรแก่โอกาส และเป็นการเพิ่มพูนพระราชสิริอีกสถานหนึ่งด้วย ศาสตราจารย์ ดร. เทียนฉาย กีระนันท์ อธิการบดีในขณะนั้น จึงมอบให้ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ กับอาจารย์จรรมนง แสงวิเชียร รับหน้าที่เสาะหาก้อนหินที่จะนำมาแกะสลัก

เมื่อได้ก้อนหินมาแล้วก็นำหินก้อนนั้นขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อไปหาช่างแกะหินมีฝีมือและมีชื่อเสียงให้ลงมือแกะสลักเป็นพระพุทธปฏิมา มีการหารือกับอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยหลายท่าน จนกระทั่งมีความเห็นเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงนำแบบของพระพุทธสิหิงค์ ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานไว้แก่มหาวิทยาลัย ขึ้นไปมอบหมายให้นายช่างเป็นผู้ดำเนินการ

มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปองค์นี้ในวันที่เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในวันแรกคือวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ขอพระมหากรุณา

ด้วยความสามารถและความตั้งใจจริงของทุกฝ่าย ในที่สุดพระพุทธรูปที่แกะจากหินผลึกก็สำเร็จเป็นรูปร่างอย่างงดงาม นอกจากนี้ยังได้งาช้างท่อนหนึ่งมาแกะสลักเป็นฐานรับกันกับพระพุทธรูป ทั้งมีฉัตรทองคำห้าชั้น กางกั้นด้วย เมื่อทุกอย่างเสร็จบริบูรณ์แล้วเราก็ได้เห็นพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกที่งดงามสมใจอยู่เบื้องหน้าของเราทุกคน

ก่อนหน้าวันพระราชทานปริญญาบัตรหนึ่งวัน มีการเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานที่ศาลาพระเกี้ยว มีการสมโภชด้วยการเจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารเพล จากนั้นเปิดโอกาสให้ชาวจุฬาฯ ทั้งปวงได้เข้ากราบสักการะ รุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันพิธีจริงเวลาบ่าย เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินถึงหอประชุม และกำลังพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตทั้งหลายอยู่นั้น ทางข้างฝ่ายศาลาพระเกี้ยวก็จัดขบวนอัญเชิญพระพุทธรูปยาตราไปสู่บุษบกที่ตั้งอยู่กลางสนามหน้าลานพระบรมราชาอนุสาวรีย์

ครั้นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเสร็จสิ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก พร้อมด้วยสมเด็จกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกที่หน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์

หลังจากอธิการบดีอ่านคำกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว ขบวนผู้แทนของคณาจารย์และนิสิต เชิญพระพุทธรูปจากบุษบกกลางสนามเพื่อไปทูลเกล้าฯ ถวาย ระหว่างนี้ชาวจุฬาฯ ทุกคนประมาณสามพันคนเห็นจะได้ พร้อมกันสวดบทชัยมงคลคาถาที่เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ขึ้นต้นว่า “ปางเมื่อพระองค์ปรมพุทธ…” ไปจนตลอดทั้งบท พอสวดจบบทขบวนก็ถึงบริเวณเฉพาะพระพักตร์พอดี

นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือศาสตราจารย์ ดร. เกษม สุวรรณกุล เชิญพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อทรงรับแล้ว พระราชทานให้รองเลขาธิการพระราชวังเชิญกลับไปพร้อมขบวนเสด็จพระราชดำเนิน ผู้คนทั้งหลายในบริเวณนั้นร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีส่งเสด็จ เป็นอันเสร็จพิธีที่เรียบง่าย แต่อยู่ในความทรงจำของผู้คนจำนวนมากที่ได้รู้เห็นเป็นพยานมาจนทุกวันนี้

เรียบเรียงจากบทความของศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ
โดย หอประวัติจุฬาฯ

รับฟังเบื้องหลังการสร้างพระพุทธปฏิมาแก้วผลึก ตอนที่ 1 และ 2 ได้ที่
https://youtu.be/xusxovXIY6U
https://youtu.be/5jaavWdu7Tg


รับชมวิดีทัศน์พิธีทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธปฏิมาแก้วผลึก