50 ปีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8 สิงหาคม 2513 – 2563
ตั้งแต่ในรัชกาลที่ 6 การจัดตั้งกรมสถิติพยากรณ์ ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (ต่อมาคือกระทรวงพาณิชย์) ทำให้เกิดความต้องการความรู้ในด้านเศรษฐกิจที่มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีการส่งนักเรียนออกไปศึกษาวิชาทางเศรษฐศาสตร์ การพาณิชย์ และการบัญชีในต่างประเทศ นักเรียนเหล่านี้เมื่อกลับมารับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติและกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นกำลังสำคัญด้านเศรษฐกิจของชาติ
จนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 การพัฒนาด้านเศรษฐกิจก็มีมากยิ่งขึ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นอธิการบดี จึงสนองความต้องการของประเทศด้วยการจัดการศึกษาพาณิชยศาสตร์เศรษฐศาสตร์ และการบัญชีขึ้น โดยได้เชิญศาสตราจารย์อุปการคุณ พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) นักเรียนทุนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบัน The Institute of Chartered Accountant in England & Wales มาเป็นประธานคณะกรรมการวางหลักสูตรการสอนในแผนกวิชาการบัญชีและพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่านในคณะกรรมการชุดนี้ จนสามารถจัดตั้งขึ้นเป็นคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีในปัจจุบัน และวิชาทางเศรษฐศาสตร์นั้น ได้อนุมัติให้คณะเปิดแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ในปี พ.ศ. 2494
กรรมการท่านหนึ่งเป็นน้องชายของพระยาไชยยศสมบัติ คือ ศาสตราจารย์อุปการคุณ อาภรณ์ กฤษณามระ นักเรียนทุนกรมรถไฟหลวง ซึ่งสำเร็จการศึกษาเกียรตินิยมอันดับ 1 ด้านพาณิชยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้นำหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบอังกฤษ เข้ามาสอนนิสิตชั้นปีที่ 1 และ 2 ทั้งได้เรียบเรียงตำราวิชาดังกล่าวขึ้นไว้ด้วย ถึงปีพุทธศักราช 2507 ท่านจึงได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
พุทธศักราช 2510 ศาสตราจารย์อุปการคุณ อาภรณ์ กฤษณามระ ได้ริเริ่ม และเสนอให้ยกฐานะแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ขึ้นเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งได้พิจารณาหลักสูตรการศึกษาของโครงการดังกล่าว มีความเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกับหลักสูตรของแผนกวิชาการคลัง คณะรัฐศาสตร์ ควรที่จะรวมการดำเนินงานเข้าไว้ด้วยกัน สอดคล้องกับวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่สำคัญ และจำเป็นในการวางแผนพัฒนาประเทศ ประกอบกับประเทศไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จำนวนมาก จึงได้รวมแผนกวิชาการคลัง คณะรัฐศาสตร์ และแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มาตั้งเป็น “คณะเศรษฐศาสตร์” โดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 สิงหาคม 2513
ปัจจุบัน คณะเศรษฐศาสตร์เป็นสถาบันผลิตนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศ มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อตอบรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง เปิดสอนระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา ในกลุ่มวิชาต่าง ๆ อาทิ กลุ่มวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์สาธารณะ ฯลฯ รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ Economics (EBA) ในระดับปริญญาตรี และหลักสูตร เช่น Health Economics and Health Care Management และ Labour Economics and Human Resource Management ในระดับบัณฑิตศึกษาด้วย
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ