“เสาธงของมหาวิทยาลัย อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ (ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ เลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น) เล่าให้ฟังว่า

วันหนึ่งได้พบเอกอัครราชทูตอังกฤษ เขาคุยว่าเสาธงที่สูงที่สุดในประเทศไทยนั้น คือ เสาธงที่สถานทูตอังกฤษ อาจารย์สุกิจก็หยอกว่า “Now” (ก็ตอนนี้)

ต่อมาท่านก็เอาทีโอไลท์ (ธีโอโดไลท์ theodolite กล้องวัดมุม) ไปวางที่ทางรถไฟ วัดระยะทำมุมว่าสูงเท่าใด ท่านบอกว่า เราจะยอมให้ธงของชาติอื่นชักขึ้นสูงกว่าธงชาติไทยไม่ได้ แล้วก็วางแผนสร้างเสาธงของมหาวิทยาลัยให้สูงกว่า โดยทำเสาที่หน้าหอประชุม ทำเป็นท่อเหล็ก 6 ท่อ ตกปลอกเป็นระยะ เมื่อจะยกขึ้นนั้นทอดปลายไปด้านเหนือถึงตอนกลาง ๆ ของคูน้ำ ก็คงจะสูงราวๆ 96 เมตร ขณะยกใช้สายลวดเหล็กผูกเข้าเป็น 3 ห่วง แล้วกว้านขึ้น ขณะกว้านขึ้นนั้นมันแดะกลางดูน่ากลัวจะหัก พ.อ.ประยูร ภมรมนตรี (พลโทประยูร ภมรมนตรี) รองอธิการบดีในระยะนั้น มายืนเฝ้าดูอยู่ด้วยความเป็นห่วง เมื่อเสาธงตั้งได้แล้วก็ค่อย ๆ ทรุดลงไปในดิน คนงานเตรียมพร้อมคอยสอดสลัก 2 อันให้ทะลุรูที่เจาะไว้พร้อมกันเมื่อทรุดลงมาถึงตรงนั้น…”

(“แลหลัง” ของศาสตราจารย์พิเศษ ดร. วิเชียร จีรวงส์ นิสิตเก่าคณะวิทยาศาสตร์ ใน 70 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : รำลึกอดีต)

“ธงชาติไทย” ได้โบกสะบัดอยู่บนเสาธงที่สูงที่สุดในประเทศไทยเวลานั้น ด้านหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่พุทธศักราช 2484 มาจนถึงปัจจุบัน

103 ปีที่สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงประกาศใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย 28 กันยายน 2460-2563

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ

#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall