ด้านละคร พระราชชายาทรงมีความสนใจทางด้านละครครั้งที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งโปรดละครทุกประเภท ไม่ว่าจะละครร้อง ละครพูด ละครดึกดำบรรพ์ โขนและละครใน เมื่อเสด็จกลับเชียงใหม่ ทรงมีการนำละครภาคกลางมาเผยแพร่ ดัดแปลงและฝึกซ้อมให้แก่คณะละครรำในเจ้าหลวงเชียงใหม่ จนสามารถแสดงในวาระต่างๆได้ ถือได้ว่าพระราชชายาฯทรงฟื้นฟูและวางรากฐานการละครขึ้นในเชียงใหม่ บทละครที่นิยมเล่นเช่น อิเหนา พระลอ และละครร้องสาวเครือฟ้า
จนในสมัยร.7 ได้มีครูจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาสอนและออกแบบท่าละคร ท่ารำ และการฟ้อนต่างๆ คือครูลมุล ยมะคุปต์ และครูเฉลย ศุขะวณิช
ด้านนาฏศิลป์ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงเอาพระทัยใส่ในการฟ้อนแบบทางเหนือยิ่งนัก ทรงฟื้นฟูและฝึกหัดลูกหลานเจ้านายฝ่ายเหนือ โดยส่วนมากเป็นลูกหลานเจ้าในตระกูล ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง ณ ลำพูน ณ น่าน ที่เข้ามาถวายตัวอยู่ในวังของพระราชชายาฯ โดยทรงปรับปรุงท่ารำและระเบียบการฟ้อน และทรงให้มีการประดิษฐ์ท่ารำใหม่ๆขึ้น โดยมีแนวทางจากนาฏศิลป์ทั้งทางเหนือ พม่า และกรุงเทพฯ ให้มีความผสมผสานกัน
ระบำและฟ้อนที่มีการปรับปรุงท่ารำ อย่างเช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ระบำและฟ้อนที่มีการประดิษฐ์ท่ารำขึ้นมาใหม่ ตัวอย่างเช่น ฟ้อนล่องน่าน ฟ้อนเงี้ยวแบบผสม ฟ้อนกำเบ้อ ฟ้อนมูเซอหรือระบำซอ ฟ้อนม่านแม่เล้ ฟ้อนมอญ ระบำพัด ระบำงู และฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ซึ่งได้ดัดแปลงท่ารำมาจากในราชสำนักพม่า จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย มีความงดงาม ชดช้อยเป็นอย่างยิ่ง
โดยสถานที่ฝึกซ้อมรำและละครนั้นอยู่ที่ “โรงกี่” ในวังเจดีย์ขาวหรือเจดีย์กิ่ว (ในปัจจุบันเป็นสถานกงสุลอเมริกันประจำเชียงใหม่)
ซึ่งงานในทางนาฏศิลป์ที่มีความสำคัญนั่นก็คือ
1.พิธีรับเสด็จ ร.7 ในคราวเสด็จเลียบมณฑลพายัพ ปีพ.ศ. 2469 พระราชชายาฯ ทรงเป็นผู้จัดการงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพิธีการต่างๆ หรือแม้กระทั่งการจัดการแสดง หรือพิธีบายศรีทูลพระขวัญโดยมีการจัดขบวนเจ้านายฝ่ายเหนือทั้งหญิงและชายฟ้อนรับเสด็จนำขบวนบายศรี และมีการแสดงฟ้อนรำอื่นๆ ถวาย ร.7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โดยช่างฟ้อนในวังของพระราชชายาฯ
2.งานสมโภชกู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ที่วัดสวนดอก ได้จัดงานฉลองใหญ่เป็นเวลา 15 วัน 15 คืน โดยมีการนำบทละครมาฝึกซ้อมให้กับคณะละครในคุ้มของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์
3.พิธีสมโภชช้างเผือก จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เป็นระยะเวลา 7 วัน 7 คืน
4.งานฟ้อนแห่ครัวทาน
5.งานกฐิน งานปอยหลวงและงานรื่นเริงอื่น ๆ
บรรณานุกรม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ดารารัศมี สายใยรักสองแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2562.
สายสวรรค์ ขยันยิ่ง.พระราชชายาเจ้าดารารัศมีกับนาฏยศิลป์ล้านนา.วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชายาฏยศิลป์ไทย ภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.
ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์