หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้นแบบขององค์กรด้านศิลปะที่ไม่แสวงหากำไรในประเทศไทย ได้รับการยอมรับในระดับชาติ มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี คณาจารย์และศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทยหลายท่านเคยนำผลงานมาจัดแสดงที่นี่ อาทิ ประเทือง เอมเจริญ, ชวลิต เสริมปรุงสุข, ประทีป คชบัว, ช่วง มูลพินิจ, สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ฯลฯ
หอศิลป์จามจุรีฯ มีห้องจัดแสดงนิทรรศการ 3 ห้อง ขนาดโดยรวมประมาณ 500 ตารางเมตร มีการจัดแสดงนิทรรศหมุนเวียนประมาณ 45 นิทรรศการ/ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายการใช้สถานที่จากศิลปินผู้ขอจัดแสดงงาน และผู้สนใจเข้าชม ทั้งนักเรียน นิสิต บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมได้ฟรี อีกทั้งหอศิลป์จามจุรียังตั้งอยู่ริมถนนพญาไท ใกล้กับห้างสรรพสินค้า MBK เดินทางสะดวกด้วยบริการสาธารณะทั้งรถโดยสารสาธารณะ แท๊กซี่ BTSสยาม จึงทำให้มีผู้เข้าชมนิทรรศการต่อเนื่องตลอดทั้งปี ดังนี้ ในปี พ.ศ. 2561 จำนวน 12,200 คน ปี พ.ศ. 2562 จำนวน 12,900 คน ส่วนปี พ.ศ. 2563 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หอศิลป์จามจุรีฯ ต้องปิดทำการไปกว่า 6 เดือน จึงมีผู้เข้าชมงานเพียง 6,500 คน และในปี พ.ศ. 2564 เป็นปีที่หอศิลป์จามจุรีฯ ปิดบริการตลอดทั้งปี
จากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563-2564 นี้ หอศิลป์จามจุรีฯ ยังคงยึดมั่นในการเป็นองค์กรด้านศิลปะที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมให้มีความสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน สนับสนุนศิลปินไทยและต่างชาติโดยไม่หวังผลกำไร หอศิลป์จามจุรีฯ จึงปรับตัวด้วยการจัดทำและเผยแพร่นิทรรศการออนไลน์ “Art Exhibition Online @ Chamchuri Art Gallery” บนพื้นที่ Facebook และ Youtube เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับศิลปิน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างดังนี้
1. นิทรรศการออนไลน์ “Crafts in the Air: An International Virtual Exhibition 2021”
หอศิลป์จามจุรีฯ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ สำนักบริหารวิจัย, ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างประเทศ Austin Wieland, LAGRANGE College, USA / Ayşe Karabey Tekin, Sivas Cumhuriyet University, Turkey / Chuck Johnson, Edinboro University, USA / Oya Asan Yuksel, Kütahya Dumlupınar University, Turkey / Yuhki Tanaka, Saga University, Japan
ครั้งนี้มีศิลปินส่งผลงานเข้าร่วมจำนวน 104 ท่าน ผลงานรวมจำนวน 104 ชิ้น หอศิลป์จามจุรีจึงนำมาจัดทำเป็นนิทรรศการออนไลน์จำนวน 7 ตอน รวมมีผู้รับชมแล้วจำนวนกว่า 71,000 ครั้ง (23 ธันวาคม 2564) และจัดทำสูจิบัตรรวบรวมผลงานและช่องทางการติดต่อศิลปินไว้ในรูปแบบ E-book เผยแพร่ต่อสาธารณะให้รับชมและสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี
- รับชมนิทรรศการ: https://www.cuartculture.chula.ac.th/en/activity/6198/
- E-book: https://www. Abstract Dialogue cuartculture.chula.ac.th/news/6184/
2. หอศิลป์จามจุรีจัดทำคลิปแสดงผลงานของศิลปินไทยและต่างชาติผู้ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563-2564 จำนวน 30 นิทรรศการ มีผู้ชมรวมกว่า 913,000 ครั้ง (23 ธันวาคม 2564) อาทิ
- “Spreading Love” โดย Antonius Kho จากเมืองอูบุด ประเทศอินโดนีเซีย
- “ผู้หญิง” สวยงามเสมอ โดย ฉัตรกมล จิระวรรธนะ
- “จดจำฉันไว้ พยายามเข้า บางทีพวกเราทำได้” โดย เอกวิทย์ จายแก้ว และ ปภาตพงศ์ วันภักดี
- “บทสนทนาแห่งนามธรรม” โดย กมล ชาวบางงาม
- “(My) Aftershock” โดย พรเทพ สุพรรณสาลีกุล
- “Reflections” โดย ศิริก้อย ชุตาทวีสวัสดิ์
- “นีโอ-กก” โดย วรวุธ สุธีวีระขจร
รับชมนิทรรศการทั้งหมด: https://youtube.com/playlist?list=PLyuS0r-5J9a3NU46xsQNQid3xmj8BABbd
3. ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ดีขึ้น หอศิลป์จามจุรีฯ กลับมาเปิดบริการตามปกติ ควบคู่ไปกับการเผยแพร่คลิปสัมภาษณ์ศิลปินถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจในการทำงาน และให้ศิลปินพาชมนิทรรศการ อาทิ นิทรรศการ “เล่นสีเล่าจินตนาการ” ของสองศิลปินตัวน้อย เด็กชายวจนะ ชุมพวง (ฮีโร่) และ เด็กหญิงเคสิยาห์ ชุมพวง (วินนี่) สองพี่น้องที่เติบโตขึ้นท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงามของจังหวัดตรัง นำสู่การบันทึกเรื่องราวความประทับใจเหล่านั้นผ่านทางผลงานศิลปะ ตามจินตนาการในสายตาของเด็กๆ
ปัจจุบันหอศิลป์จามจุรี เป็นหอศิลป์ประจำมหาวิทยาลัย และเป็นหอศิลป์ของภาครัฐ ที่ได้รับการยอมรับในมาตรฐานการคัดเลือกและจัดแสดงงานศิลปะด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อีกทั้งยังเป็นที่เผยแพร่ผลงานเพื่อรับรองศิลปนิพนธ์จบการศึกษาของนิสิต นักศึกษา และการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ โดยเปิดโอกาสให้ทุกสถาบันการศึกษา รวมทั้งศิลปินทุกระดับชั้น ตั้งแต่ศิลปินระดับชาติ นานาชาติ และศิลปินอาชีพ
ในด้านวิชาการและการเผยแพร่องค์ความรู้ หอศิลป์จามจุรี ดำเนินการทั้งในรูปของเอกสารสิ่งพิมพ์ การบรรยาย การเสวนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาเชิงลึกและเสริมสร้างความรู้ด้านศิลปะแก่ผู้สนใจในทุกระดับอีกด้วย
สำหรับผู้ชมซึ่งเป็นสาธารณชนทั่วไป หอศิลป์จามจุรี เป็นสถานที่ในการชื่นชมและดื่มด่ำกับสุนทรียศิลป์จากงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ และสร้างบรรยากาศทางศิลปะขึ้นในชุมชนมหาวิทยาลัยและสังคม
หอศิลป์จามจุรีเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าถึงแม้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง แต่ยังคงทำนุบำรุงและส่งเสริม สนับสนุน งานทางด้านมนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ โดยเฉพาะการพัฒนาและสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะอย่างสม่ำเสมอและยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลย์แก่สังคมโลกสืบไป
หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันเวลาเปิดบริการ:
วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00 – 19.00 น.
วันเสาร์และอาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา 12.00 – 18.00 น.
ปิดให้บริการในเทศกาลวันปีใหม่ และวันสงกรานต์
แผนที่: https://goo.gl/maps/iehjnoTws12PfEzX7
ไม่เก็บค่าใช้สถานที่และค่าเข้าชมนิทรรศการ
โทร. 02-218-3709
อีเมล chamchuriartgallery@gmail.com
Facebook: https://www.facebook.com/chamchuriartgallery
เว็บไซต์ http://www.chamchuriartgallery.chula.ac.th/
ข้อมูลหอศิลป์จามจุรี
ภาษาไทย: https://www.cuartculture.chula.ac.th/service/chamchuri-art-gallery/
ภาษาอังกฤษ: https://www.cuartculture.chula.ac.th/en/service/chamchuri-art-gallery/
บทความปี 2021
ภาษาไทย: https://www.cuartculture.chula.ac.th/article/5269/ https://www.cuartculture.chula.ac.th/article/5062/
ภาษาอังกฤษ: https://www.cuartculture.chula.ac.th/en/article/4621/ https://www.cuartculture.chula.ac.th/en/article/4384/