พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ในการเป็นแหล่งเรียนรู้ และเผยแพร่ข้อมูลของมหาวิทยาลัย ตลอดจนงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมทุกสาขาวิชาในรูปแบบต่าง ๆ เผยแพร่ด้วยสื่อที่ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับระดับชาติและนานาชาติ
มีพื้นที่ขนาดใหญ่ 4,600 ตารางเมตร มีศักยภาพในการเผยแพร่กิจกรรมแก่สาธารณชน และมุ่งมั่นสร้างเครือข่ายระหว่างหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ สถาบันต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ จึงนำมาสู่การริเริ่มดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยขึ้น
เริ่มต้นครั้งแรกในปี 2563 ใน Concept “วิทยาศาสตร์ผนวกกับการนำเสนอทางด้านศิลปะ” พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค และพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำนิทรรศการ “กายวิจิตร”นำเสนอสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดที่ผ่านกระบวนการการดองใสและย้อมสี (Clearing and Staining) และการดองเขียวของพืช นำมาจัดแสดงสู่สาธารณชน นิทรรศการนี้มีผู้เข้าชมจำนวนกว่า 2,000 คน
จากความร่วมมือดังกล่าว ในช่วงปลายปี 2563 ถึงปี 2564 ยังได้จัดอีกหนึ่งนิทรรศการคือ นิทรรศการ “ความลับของโครงกระดูก” นำเสนอโครงกระดูกสัตว์มีกระดูกสันหลัง จากการเรียนการสอนภายในห้องเรียนด้านชีววิทยา ในการต่อกระดูกสัตว์เพื่อเรียนรู้สิ่งมีชีวิต การใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาผสานกับการใช้สื่อจัดแสดงโดยใช้องค์ความรู้ทางศิลปะมาช่วยในการจัดวาง จัดองค์ประกอบ รวมไปถึงการจัดแสงที่ช่วยสร้างสุนทรียะ เปิดประสบการณ์แก่ผู้ชมได้ร่วมสนุกและได้รับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น นิทรรศการดังกล่าวจึงได้รับความสนใจจากเยาวชนและสถานศึกษา แม้แต่โรงเรียนในต่างจังหวัด เช่น โรงเรียนส่วนบุญโญอุปถัมภ์ จังหวัดลำพูน หรือกลุ่มนักเรียน Home School พร้อมผู้ปกครองได้เข้าชมเป็นหมู่คณะ รวมทั้งการเข้าชมแบบครอบครัวและผู้สนใจโดยทั่วไป ทั้งนี้มีจำนวนผู้เข้าชมนิทรรศการกว่า 1,500 คน
แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ อีกทั้ง เพื่อเป็นการสื่อสารระหว่างพิพิธภัณฑ์กับผู้ชมให้มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น จึงได้นำเสนอนิทรรศการเพิ่มเติมในรูปแบบ นิทรรศการเสมือนจริง (Virtual Exhibition Online) ขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง พร้อมเกมส์สนุกๆ เป็นการทดสอบเพื่อทบทวนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งช่วยให้นิทรรศการดังกล่าวมีความสนุกสนานน่าสนใจและแตกต่างจากการเข้าชมจากสถานที่จริง และสามารถเข้าถึงสาธารณชนในวงกว้างได้มากขึ้น นับเป็นแง่บวกในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้
- รับชม Virtual Tour พร้อมการบรรยายจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ และนิสิตจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ได้ที่ https://www.cuartculture.chula.ac.th/virtual/Skeleton/Exhibition
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ยังจัดทำสูจิบัตรออนไลน์รวบรวมองค์ความรู้โครงกระดูกสัตว์มีกระดูกสันหลัง ไว้ในรูปแบบ E-book เผยแพร่ต่อสาธารณะให้รับชมและสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี สูจิบัตรออนไลน์ https://www.cuartculture.chula.ac.th/news/5514/
ทั้งนี้ นิทรรศการ “ความลับของโครงกระดูก” ได้เข้าร่วมกิจกรรม “พิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน – Night at the Museum 2020” ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2563 พร้อมกับเครือข่าย 12 แห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร นับเป็นการกระตุ้นความสนใจที่ดี และขับเคลื่อนนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้
กิจกรรมดังกล่าวจัดโดยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย (Museum Thailand) และได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ จำนวน 12 แห่ง คือ มิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา อนุสรณ์สถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธบางลำพู พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนและมีเครือข่ายมากขึ้น ในครั้งนี้พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยใช้หัวข้อในการเล่าเรื่องเดียวกัน (Theme) ผสมผสานระหว่างงานศิลปะกับดนตรีเข้าด้วยกัน โดยผู้ชมได้เข้าชมนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ทั้ง 4 ชั้น รวมถึงนิทรรศการหมุนเวียน “ความลับของโครงกระดูก”และได้รับชมการแสดงดนตรีครั้งพิเศษสองรายการ บรรเลงโดยวงดนตรีไทยของ นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ และวงดนตรีตะวันตก จุฬาฯ เชมเบอร์ ทำให้บรรยากาศในงานทั้งภายในและด้านนอกตัวอาคารพิพิธภัณฑ์สอดคล้องกลมกลืนกันอย่างดี ผู้เข้าชมได้รับสุนทรียศิลป์อย่างครบถ้วน
โครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ออกนอกห้องเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในเชิงการศึกษาตลอดชีวิต และเกิดความเพลินเพลินกับสาระทางวิชาการในรูปแบบที่น่าสนใจและสามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย
พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนิทรรศการถาวรนำเสนอประวัติศาสตร์และองค์ความรู้ทางวิชาการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยในรูปแบบที่ทันสมัย และมีนิทรรศการหมุนเวียนตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นสถานที่สนับสนุนการเรียนการสอนสำหรับให้นิสิตและบุคลากรสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ตามอัธยาศัย ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการต่าง ๆ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30 – 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
ไม่เก็บค่าใช้สถานที่และค่าเข้าชมนิทรรศการ
โทร. 02-218-3645
อีเมล chulamuseum@gmail.com
Facebook: https://www.facebook.com/chulamuseum/
แผนที่: https://goo.gl/maps/Xvf1B469MJToPjcV9
ที่จอดรถ: อาคารมหาจักรีสิรินธร ชั่วโมงละ 15 บาท https://goo.gl/maps/VpvEnLhMZkZ31Tby9
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย
ภาษาไทย: https://www.cuartculture.chula.ac.th/service/chula-museum/
ภาษาอังกฤษ: https://www.cuartculture.chula.ac.th/en/service/chula-museum/
เว็บภายนอก:
Game of bones (bangkokpost.com)
นิทรรศการ “ความลับของโครงกระดูก : SKELETON’S SECRET” | Contest War
ความลับของโครงกระดูก (Skeleton’s Secrets) ศึกษากายวิภาคสัตว์ ที่พิพิธภัณฑ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – Pira Story
ครั้งแรกกับกิจกรรมท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน :: Museum Thailand
บทความปี 2021
ภาษาไทย: https://www.cuartculture.chula.ac.th/article/5270/
ภาษาอังกฤษ: https://www.cuartculture.chula.ac.th/en/article/4633/