จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นจากพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทยหลายรัชกาลสืบเนื่องกันมา รวมทั้งความตั้งใจของข้าราชการและบุคลากรต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ทำให้มีความก้าวหน้าขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ และสร้างบัณฑิตออกไปพัฒนาสังคมมากว่า 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ด้านการศึกษาของประเทศไทย ใน 1 ศตวรรษที่ผ่านมา
มหาวิทยาลัยจึงจัดตั้ง “หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ขึ้น ให้มีหน้าที่ในการเก็บรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาของสังคมไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา
หอประวัติจุฬาฯ ดำเนินงานใน 3 ลักษณะ
- เป็นหอจดหมายเหตุ เก็บเอกสารและหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์
- เป็นห้องสมุดเฉพาะทาง มีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย
- เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุและสิ่งทรงคุณค่าของมหาวิทยาลัย รวมทั้งนิทรรศการหมุนเวียน
ทั้งนี้ หอประวัติเปิดให้บริการสืบค้นข้อมูล เอกสาร หนังสือ แก่ประชาคมจุฬาฯ และบุคคลทั่วไป
โครงการเสวนาพัฒนาการด้านการอุดมศึกษาของไทย “เมธีวิทยาพัฒนาจุฬาฯ สู่ศึกษิตสังคม”
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพื่อเฉลิมพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งกรรมการดำริรูปการขึ้นเพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงการพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันมีคุณค่ายิ่ง ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังก้าวย่างเข้าสู่ศตวรรษที่สอง จึงเป็นวาระอันควรศึกษาข้อดี ข้อด้อยของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทรงคุณค่าเพื่อนำมาเป็นหลักในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป
งานเสวนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน โดยหอประวัติจุฬาฯ ได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีและนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายนำในหัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ผ่านมาและที่ควรจะเป็น” และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดนยา ปโกฏิประภา เป็นวิทยากรในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยและพัฒนาในปัจจุบันสู่อนาคต”
ผลที่ได้จากการเสวนาครั้งนี้ นำไปสู่ข้อเสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในศตวรรษที่สอง อาทิ
- ปฏิรูปการอุดมศึกษา สร้างบัณฑิตเป็นนวัตกร นำความรู้ไปสร้างงานวิจัย ผลิตออกมาเป็นนวัตกรรมที่สามารถใช้ได้จริง และต่อยอดงานวิจัยเพื่อขยายประโยชน์ในวงกว้าง
- ส่งเสริม และจัดระบบการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และเปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อเพิ่มทักษะในการทำงานเฉพาะด้านและร่วมสมัย อาทิ ภาษา เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมที่หลากหลาย
- ส่งเสริมให้บัณฑิตมีจิตสำนึกในการให้ความรู้และช่วยเหลือสังคม
- ส่งเสริมให้บัณฑิตทำงานร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์ ยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย