ดนตรีไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน เสียงดนตรีที่นุ่มนวล หรือตื่นเต้น คึกคัก ล้วนไพเราะจับใจ และนำความสุข ความอิ่มเอมใจมาให้ผู้ฟังดนตรีไทยอยู่เสมอนั้น มีเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังที่ทำให้การบรรเลงมีความไพเราะและสมบูรณ์แบบ อันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ นับเป็นองค์ความรู้ทางวิชาการและทางประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การเก็บข้อมูลดังกล่าว เพื่อรักษาไว้สำหรับชนรุ่นหลังสืบไป

เครื่องดนตรีไทย มีครบลักษณะทั้งการ ดีด สี ตี เป่า เช่น จะเข้ ซอ ระนาด ฆ้อง กลอง ปี่ และเครื่องดนตรีอื่นๆ อีกหลายเครื่องมือ ซึ่งแต่ละเครื่องดนตรีมีส่วนประกอบที่สำคัญหลายอย่างที่เมื่อทำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วเครื่องดนตรีเหล่านั้นจะเปล่งเสียงที่ไพเราะน่าฟังอย่างยิ่ง ส่วนประกอบที่กล่าวถึง เช่น ไม้ระนาด ไม้ฆ้อง ไม้ดีดจะเข้ ลิ้นปี่ ถ่วงตะกั่วปรับเสียง เป็นต้น เทคนิคและวิธีการ “สร้างและซ่อม” มีเรื่องราวความเฉพาะพิเศษแตกต่างกันออกไป หากแต่การเผยแพร่เทคนิคและวิธีการนั้น ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ด้วยเป็นองค์ความรู้ที่สืบต่อกันในสืบสายสกุลหรือในสำนักดนตรี ด้วยการจดจำที่สืบทอดกันโดยวิธีแบบมุขปาฐะ (การพูดให้ฟังแทนการเขียนบันทึก)

ด้วยเหตุนี้ หอสมุดดนตรีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องบันทึกองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญดังกล่าว และนำมาจัดเก็บเพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ในระบบออนไลน์ในลักษณะคลิปวีดิทัศน์ เพื่อส่งต่อข้อมูลอันเป็นประโยชน์นี้แก่ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ศิลปินนักดนตรี และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ในชื่อรายการ “จุฬาฯจารึก นานาสาระดนตรีไทย” 

กราบขอบคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำหรับความรู้เรื่องการพันไม้ระนาดครั้งนี้

เนื่องจากผมเป็นครูดนตรีไทยในจังหวัดที่ห่างไกล ผมได้นำความรู้เรื่องการพันไม้จากคลิปนี้ไปใช้ซ่อมแซมไม้ระนาดให้เด็กนักเรียนที่โรงเรียนได้จริง ๆ ครับ
กราบขอบพระคุณครับ

กิตติ์ธเนศ ศิริสุริยเสรี 
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยพะเยา 24 พฤษภาคม 2565


ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2565 ดำเนินการจัดทำและเผยแพร่แล้วจำนวน 4 ตอน มีจำนวนผู้เข้าชมวีดิทัศน์รวมกว่า 33,300 ครั้ง ผู้สนใจสามารถรับชมวีดิทัศน์ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้


ติดต่อหอสมุดดนตรีไทย

หอสมุดดนตรีไทยเปิดบริการสำหรับประชาคมจุฬาฯ และบุคคลทั่วไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

วันเวลาเปิดบริการ: จันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น.
โทร. 02-218-3633
แผนที่: https://goo.gl/maps/ua8CDHptBb7htnQn9

Facebook page: https://www.facebook.com/ChulaThaiMusicLibrary/
เว็บไซต์: https://www.cuartculture.chula.ac.th/en/service/thai-music-library/