ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งขึ้นมากว่า 40 ปี โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายสำคัญคือการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนและองค์ความรู้จากศาสนาต่าง ๆ โดยเน้นพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ หลักการคือการทำให้ประชาคมและผู้สนใจทั่วไปในสังคม นำหลักธรรมดังกล่าวไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความสุข ความสำเร็จ ในการดำเนินชีวิต
ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานเพื่อให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วย โครงการธรรมบรรยายออนไลน์หลายประเภท ซึ่งมีเนื้อหาทั้งแบบเชิงกว้าง เข้าใจง่าย และแบบเชิงลึกสำหรับผู้ศึกษาวิชาการด้านศาสนาและผู้ปฏิบัติธรรมขั้นสูง โดยวิทยากรรับเชิญที่หลากหลาย เช่น พระสงฆ์ บาทหลวง และผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาต่าง ๆ เป็นต้น มีผู้เข้าชมและฟังการบรรยายผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงกันยายน 2564 จำนวนมาก คือมีผู้ติดตามกว่า 6,800 คน (Follow/Subscriber) และมีจำนวนการเข้าชมคลิปการบรรยายธรรมกว่า 677,000 ครั้ง (view)
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 ถึง กันยายน 2565) ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ผ่อนคลายขึ้น ธรรมสถานจึงปรับให้มีการเข้าฟังบรรยายในสถานที่ควบคู่ไปกับการรับชมออนไลน์ และเพิ่มรูปแบบรายการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายขึ้น คือ รายการ “ปุจฉาธรรม” และ รายการ “กระจ่างธรรม กระจ่างใจ” และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหลายองค์กรทางศาสนา อาทิ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศวิหาร วัดญาณเวศกวัน และวัดป่าธรรมอุทยาน จังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติครั้งแรก ด้วยการไปสนทนาธรรมและบันทึกการแสดงธรรม ของท่านรินโปเช Khenpo Dorje La ณ วัดเจดีย์พุทธนาถ(Boudhanath) ประเทศเนปาล อีกด้วย
รายการ “ปุจฉาธรรม” เป็นรายการสั้นๆ ประมาณ 5-10 นาที ไขปัญหาคาใจที่บุคคลทั่วไปอยากรู้ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อ และวิธีการปฏิบัติที่ถูกที่ควรในบริบททางวัฒนธรรมประเพณี ที่เกี่ยวกับศาสนาและการดำเนินชีวิต อาทิ คนที่ตายไปแต่ไม่มีพระสวดให้ จะได้บุญหรือไม่ / นั่งสมาธิแล้วหลับ ถือเป็นสมาธิหรือไม่ / การสะเดาะเคราะห์ ในทางพระพุทธศาสนา ทำได้จริงหรือไม่? / รักอย่างไร ไม่ให้เป็นทุกข์ เป็นต้น เพื่อคลายความกังวล ความสงสัย และสามารถดำเนินชีวิตตามครรลองธรรมได้อย่างสบายใจ
ผู้สนใจสามารถรับชมรายการได้ที่ https://www.youtube.com/playlist?list=PLZvlBgj_gS1uO9FduDvQc6m0ZfWTYaBTd
รายการ “กระจ่างธรรม กระจ่างใจ” การสนทนาธรรม เพื่อให้เกิดความกระจ่างในหลักธรรมคำสอนยิ่งขึ้น ความยาวประมาณ 45 นาที – 1 ชั่วโมง ระหว่างวิทยากร คือ พระครูปลัดสัมพิพัฒนศีลาจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชูพงศ์ ปัญจมะวัต อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญและศึกษาในด้านศาสนา ในหัวข้อ เช่น ความสุข / ความเหงา บรรเทาได้ / เกิดเป็นหญิงหรือชายสำคัญไหม อะไรสำคัญมากกว่าความเป็นหญิงชาย / เตรียมใจอย่างไร เมื่อถึงวัยที่ไร้งาน เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถรับชมรายการได้ที่ https://www.youtube.com/playlist?list=PLZvlBgj_gS1thAFqn3ffP72zZnXwX75js
ในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีงบประมาณ 2565 ธรรมสถานตระหนักถึงความจำเป็นในการกลับมาจัดกิจกรรมในพื้นที่ธรรมสถาน (Onsite) เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพื่อทำนุบำรุง อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี และเผยแพร่องค์ความรู้ทางศาสนา ตลอดจนเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางศาสนาของมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบ โดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างเคร่งครัด
“สัปดาห์วิสาขบูชา 2565” วันที่ 11-15 พฤษภาคม ประกอบด้วยกิจกรรมบรรยายธรรม การเวียนเทียนและสนทนาธรรม
“สัปดาห์อาสาฬหบูชา 2565” วันที่ 1-14 กรกฏาคม 2565 ประกอบด้วยกิจกรรมการบรรยายธรรม การหล่อเทียน การเวียนเทียนและสนทนาธรรม
“การอบรมธรรมะช่วงเข้าพรรษา” โดยเน้นหลักสำคัญคือ “สวดมนต์ ฟังธรรม เจริญภาวนา” ทุกวันอาทิตย์ รวม 5 ครั้ง ระหว่างวันที่ 7 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2565 ประกอบด้วยการถวายเทียนพรรษาและการอบรมธรรมะในหลักสำคัญดังกล่าวในรูปแบบออนไลน์ โดยพระสงฆ์ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 รูป
ธรรมสถานบริการพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งกิจกรรมทางศาสนาและที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้มีนิสิตและประชาคมมาใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ
- การเสวนาและบรรยายธรรมเรื่อง ”ความเท่าเทียมกันทางเพศในพระพุทธศาสนา” โดยภิกษุณีธัมมนันทา
- กิจกรรมรอมฎอน หน่วยงาน ชมรมศาสนศึกษา แผนกอิสลาม จุฬาฯ
- พิธีมิสซา ชมรมศาสนศึกษา แผนกคาทอลิก จุฬาฯ
- กิจกรรมคลื่นเสียงบำบัด โดยองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ
- กิจกรรม “ศิลป์สร้างสุข : ย้อมคราม Shibori” โดยหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต และองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ
- กิจกรรม “Connect With Yourself Through Nature” หน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต และองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ
ธรรมสถานจุฬาฯ เปิดให้บริการสำหรับประชาคมจุฬาฯ และบุคคลทั่วไป ในการค้นคว้าข้อมูล ยืม-คืน และสำเนาข้อมูลหลักธรรมคำสอนของศาสนาต่าง ๆ อาทิ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู เป็นต้น มีบริเวณสำหรับอ่านหนังสือ ฟังข้อมูลเสียง และมีห้องบรรยายธรรม ในพื้นที่ขนาดประมาณ 200 ตารางเมตร
ติดต่อธรรมสถานจุฬาฯ
วันเวลาเปิดบริการ: จันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น.
โทร. 02-218-3018
อีเมล dharma-centre@chula.ac.th
LINE Official Account: ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์: www.dharma-centre.chula.ac.th
แผนที่: https://goo.gl/maps/Zmrcm63MdHH28qas6
ข้อมูลธรรมสถานจุฬาฯ
ธรรมสถาน – สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความ
ปี 2021
ภาษาไทย: ห้องสมุดธรรมสถาน: ธรรมะบรรยายเพื่อการพัฒนาชีวิตและสังคม – สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (chula.ac.th)
ภาษาอังกฤษ: Dharma Lecture for Developing Life and Society – Office of Art & Culture, Chulalongkorn University
ปี 2022
ภาษาไทย: ห้องสมุดธรรมสถานจุฬาฯ: โครงการธรรมบรรยายออนไลน์เพื่อผู้ประสบภัยโควิด-19 – สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (chula.ac.th)
ภาษาอังกฤษ: Dharma Lecture for Those Affected by Covid-19 Pandemic – Office of Art & Culture, Chulalongkorn University