พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานในมหาวิทยาลัยและต่างประเทศ นำเอาศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ มาเผยแพร่สู่สาธารณะชนด้วยรูปแบบนิทรรศการ Onsite และ Online โดยใช้เทคโนโลยี BIM (Building information modeling) และ Metaverse ผสมผสานกับวิธีการนำเสนออย่างมีศิลปะ

“เรา “เคาะประตูบ้าน” ทั้งกับผู้ร่วมจัดนิทรรศการ
คือเดินไปหาเขาเลย ไปคุยกับเขาว่าเรามีไอเดียแบบนี้ สนใจไหม
ไม่ว่าจะเป็นคณะอักษรฯ สถาบันเอเชียศึกษา คณะสถาปัตย์
…แล้วเราก็ใช้เทคโนโลยี BIM กับ Metaverse มานำเสนอนิทรรศการที่จัด onsite อยู่แล้ว
ให้เข้าไปอยู่ในรูปแบบ online ซึ่งสนุกสนาน น่าสนใจ ทำให้เราไม่ตกเทรนด์
และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เสพข้อมูลจากออนไลน์เป็นหลัก”

คุณหรรษา คำล้วน ผู้อำนวยการฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์

เมื่อวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป เปิดรับและคุ้นชินกับโลกออนไลน์มากขึ้นแล้ว เทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการจัดนิทรรศการได้  ฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จึงจับมือกับ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดนิทรรศการ “ใครสร้างคำ คำสร้างใคร” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ในรูปแบบ Metaverse ควบคู่ไปกับนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม ถึง 27 กันยายน 2565

รับชม Metaverse คลิกที่นี่

ภายในนิทรรศการแบ่งเป็น 3 ส่วนย่อย คือ (1) “คนสร้างคำ คำสร้างชาติ” นำเสนอมิติทางภาษาศาสตร์ของ “คำ” ผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการบัญญัติศัพท์ในยุคสมัยที่สยามก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ (2) “คำไทย คำถิ่น” ชี้ชวนให้เราพินิจความหลากหลายของภาษาในสังคมไทยผ่านกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับความซับซ้อนของคำซ้อน (3) “คำสร้างใคร” ถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างคำกับการนำเสนอตัวตนของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนในวัฒนธรรมย่อยที่สร้างปรากฏการณ์ทางภาษาในโลกยุคดิจิทัลอย่างน่าสนใจ  โดยเนื้อหาทั้งหมดนี้ผ่านการรวบรวมและกลั่นกรองจากนักภาษาศาสตร์ คณาจารย์จากภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และใช้วิธีการนำเสนอข้อมูล และออกแบบนิทรรศการโดย ‘คนทำงานศิลปะ’ คือทีมงานของฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์

นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม จัดการเสวนาเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 “คำไทยกับคนไทย” ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook  และ Youtube ของสำนักฯ มีผู้เข้าชมรวมกว่า 30,000 ครั้ง

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 ฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ ยังได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือและจัดนิทรรศการที่น่าสนใจอีก 2 นิทรรศการ ดังนี้

  • (1) ความร่วมมือกับศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดนิทรรศการแสดงจิตรกรรมเปอร์เซียร่วมสมัย “อิหร่านราชธรรม : การเดินทางจากเปอร์เซียสู่สยาม” โดยจิตรกรชาวอิหร่าน ‘โอราช เกโรยาน’ ณ พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 31 มีนาคม 2565

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ยังได้จัดทำวีดิทัศน์ศิลปะหรรษา สาธิตการวาดภาพแบบเปอร์เซียอย่างละเอียด โดย Arash Groyan ศิลปินชาวอิหร่าน

  • (2) ความร่วมมือกับ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมศิลปะเครื่องปั้นดินเผาเกาหลี (The Korea Society of Ceramic Art-KSCA) จัดนิทรรศการเซรามิกร่วมสมัยไทย-เกาหลี 2022 (2022 Korea-Thailand Contemporary Ceramics Exchange Exhibition) ผลงานของศิลปินจากเกาหลีและไทย รวมจำนวน 85 คน ระหว่างวันที่ 18 เมษายน ถึง 10 มิถุนายน 2565 ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแบ่งปันเทคนิค ประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน และเสริมสร้างความก้าวไกลด้านความรู้ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์จากศิลปินของทั้งสองประเทศ  พร้อมกันนี้ยังได้จัดกิจกรรมการอบรมเทคนิคการตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาด้วยน้ำดินสีขาวแบบเกาหลี (Workshop Buncheong Pottery Techniques) ให้กับบุคคลทั่วไปโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย