จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีโครงการบันทึกและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเป็นประจำทุกปี ทั้งในส่วนของวัฒนธรรมพื้นบ้านหรือภูมิภาค วัฒนธรรมระดับชาติ และวัฒนธรรมของชุมชนพลัดถิ่น ซึ่งในช่วงปี 2564-2565 มีรายละเอียดดังนี้
มรดกทางวัฒนธรรมพื้นบ้านหรือภูมิภาค
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์และสืบรักษามรดกทางวัฒนธรรมพื้นบ้านและภูมิภาคอยู่เสมอ โดยโครงการที่ทำต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปีคือโครงการของพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการบันทึกข้อมูลทางวัฒนธรรมของพื้นบ้านและภูมิภาคเหนือ หรือที่เดิมเรียกว่า “ล้านนา” โดยในช่วงวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี วันที่ 9 ธันวาคม ครั้งล่าสุดคือปี 2564 มีการจัดกิจกรรมประเพณีท้องถิ่น กิจกรรมกาด(ตลาดแบบภาคเหนือ) การจัดนิทรรศการ การจัดการแสดงดนตรี การประกวดนาฏศิลป์พื้นเมืองเหนือ เช่น กลองสะบัดชัย ประกวดฟ้อนเล็บ เป็นต้น เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนและผู้สนใจมีความรู้ มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมพื้นถิ่นภาคเหนือของตน ทั้งด้านวัฒนธรรมประเพณี ดนตรี อาหารการกิน และภาษา ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวมีการบันทึก จัดเก็บข้อมูลและเผยแพร่ ทั้งในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์และทางออนไลน์
สามารถรับชมบันทึกงานได้ที่ https://www.facebook.com/212650115891844/videos/584869029505448
มรดกทางวัฒนธรรมระดับชาติ
ประเทศไทยมีงานศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าหลากหลายประเภท ที่สำคัญประเภทหนึ่งคือ “ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์ดนตรีไทย จึงเป็นที่มาของโครงการ “จุฬาจารึก” ที่มีการดำเนินงานเป็นส่วน ๆ เพื่อสืบทอดองค์ความรู้และศิลปะในการบรรเลงของครูดนตรีผู้ทรงคุณวุฒิของชาติอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะสะดวกต่อการสืบค้นเพื่อการศึกษา และถูกต้องตามศิลปินต้นแบบ ไม่สูญหายไป โดยการบันทึกข้อมูลทั้งหมดในระบบดิจิทัลของหอสมุดดนตรีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานของโครงการ “จุฬาจารึก” ได้แก่
(1) โครงการบันทึกข้อมูลนักดนตรีไทยอาวุโส ระยะที่ 4-6
จัดเก็บข้อมูลนักดนตรีไทย ในระดับทรงคุณวุฒิ และเชี่ยวชาญ โดยเริ่มต้นจากศิลปินอาวุโสสูงไล่เรียงลงมาตามลำดับ โดยจัดเก็บทั้งข้อมูลด้านประวัติบุคคล ประวัติการสืบทอดและองค์ความรู้ทางดนตรีไทย บันทึกไว้ในรูปแบบบันทึกวีดิทัศน์สัมภาษณ์ และการบรรเลงตัวอย่างเพลงสำคัญที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละท่าน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต้นสังกัด อาทิ กรมศิลปากร กองดุริยางค์ของสี่เหล่าทัพ วงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์ และวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร รวมทั้งศิลปินอิสระ เป็นต้น ปัจจุบันมีข้อมูลศิลปินที่เสร็จสมบูรณ์แล้วนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ รวม 153 ท่าน และมีแผนงานที่จะดำเนินการโครงการนี้ต่อเนื่องทุกปี
(2) โครงการนานาสาระดนตรีไทย ระยะที่ 1
บันทึกและเผยแพร่ เทคนิคและวิธีการ “สร้างและซ่อม” เครื่องดนตรีไทยและส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องดนตรี ซึ่งล้วนเป็นองค์ความรู้ที่สืบต่อกันในสืบสายสกุลหรือในสำนักดนตรี ด้วยการจดจำที่สืบทอดกันโดยวิธีแบบมุขปาฐะ เพื่อเป็นการป้องกันการสูญหายของความรู้ในทุกแง่มุม จึงเริ่มดำเนินการจัดเก็บ บันทึก โดยจัดทำเป็นคลิปวีดิทัศน์เผยแพร่ทางออนไลน์แล้ว จำนวน 6 ตอน มีผู้รับชมรวมแล้วกว่า 35,000 ครั้ง และมีแผนงานที่จะดำเนินการโครงการนี้ต่อเนื่องในปีงบประมาณถัดไป
(3) โครงการบันทึกการแสดงดนตรีไทย รายการ “จุฬาวาทิต”
การแสดงดนตรีไทยรายการ “จุฬาวาทิต” จัดแสดงเป็นประจำทุกศุกร์แรกของเดือน (เดือนเว้นเดือน / ปีละ 6 ครั้ง) เป้าหมายของโครงการคือการให้พื้นที่กับวงดนตรีไทยแบบฉบับดั้งเดิม ได้มีเวทีเพื่อเผยแพร่ และฝึกฝนสร้างประสบการณ์แก่นักดนตรีไทยจากรุ่นสู่รุ่น และจัดเป็นรายการแสดงอย่างจริงจัง โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมในหอแสดงดนตรี และถ่ายทอดสดทาง Facebook และ Youtube และบันทึก จัดเก็บไฟล์การแสดงไว้ทุกครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2531 นับจนถึงปัจจุบัน ในเดือนตุลาคม 2565 การแสดงดนตรีไทยรายการ “จุฬาวาทิต” ได้จัดแสดงมาจนถึง 223 ครั้งแล้ว
มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนพลัดถิ่น
ในภูมิภาคเอเชียมีการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมที่สืบเนื่องและคล้ายคลึงกันตั้งแต่ก่อนการแบ่งออกเป็นประเทศต่าง ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่โยกย้ายหรือพลัดถิ่นมาอยู่ในบริบททางวัฒนธรรมอีกที่หนึ่งจึงนำพาเอามรดกทางวัฒนธรรมของตนมาด้วย ในประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยโดย รศ.ดร.พรประพิตร์ เผ่าสวัสดิ์ และผู้ร่วมโครงการได้ดำเนินการเก็บข้อมูลทางด้านดนตรีของชาติพันธ์ต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน ซึ่งมีถึง 15 กลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ไทลื้อ ลาวพวน ไทเขิน ม้ง ชนชาว(สิบสองปันนา) มลาบรี(ชนเผ่าตองเหลือง) ลาวเชียงแสน มูเซอ เป็นต้น โดยดำเนินการจัดเก็บทั้งประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ และเน้นที่ลักษณะของวงดนตรีของชุมชน ลักษณะเครื่องดนตรี บทเพลง ด้วยการสัมภาษณ์ บันทึกภาพและเสียงจดบันทึกโน้ตเพลง ประเภทของวงดนตรีต่าง ๆ ประกอบด้วย วงสะล้อ ซอ ปิน, ขับไทลื้อ, กรุ่ง, เปร๊ะห์, วงป้าดเมือง, วงกลองคุม, วงกลองปูจา, และกลองต๊อบส้องประกอบการฟ้อนหางนกยูง
ทั้งนี้การจัดเก็บเริ่มดำเนินมาเป็นระยะจนถึงปัจจุบัน สามารถเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และดนตรี ของชุมชนพลัดถิ่นเหล่านี้ได้เป็นจำนวนมาก เพื่อการอนุรักษ์ สืบทอด มรดกทางวัฒนธรรมที่พลัดถิ่นเหล่านั้นไว้เป็นมรดกโลกสืบไป