ตลอด 30 ปี ของการก่อตั้งวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ได้ผลิตบุคคลากรทางด้านดนตรีออกสู่สังคมและวงการดนตรีจำนวนมาก ได้สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ไปทั่วประเทศ เป็นครูอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันการศึกษาทางด้านดนตรี ทั้งในระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษา สร้างนักดนตรีให้กับวงดนตรีสำคัญของประเทศ เช่น วงดุริยางค์สากลกรมศิลปากร (Nation Symphony Orchestra of Thailand) วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ (Royal Bangkok Symphony Orchestra) และวงในเหล่าทัพต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีบุคคลากรเข้าสู่วงการดนตรีอีกมาก ทั้งในบทบาทของนักดนตรี (Musician) นักประพันธ์เพลง (Composer) นักเรียบเรียงเสียงประสาน (Arranger) ช่างเสียง (Sound Engineer) ช่างภาพถ่ายวีดิทัศน์ (ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบของวงดนตรีคลาสสิก และเสียงของเครื่องดนตรี) ช่างซ่อมเครื่องดนตรี และธุรกิจซื้อขายเครื่องดนตรี โน้ตเพลง และอุปกรณ์ทางด้านดนตรีต่างๆ

การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความเท่าเทียม ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ

การแสดงดนตรีวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ จัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ทางด้านดนตรีสำหรับนิสิตจุฬาฯ เป็นหลัก ร่วมด้วยนิสิตเก่า และนักดนตรีอาชีพ เพื่อผสมผสานการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบรรเลงดนตรีของกลุ่มคนต่าง ๆ ผ่านบทประพันธ์ชิ้นเอกของผู้ประพันธ์ที่มีชื่อเสียง ในส่วนของวงกลุ่มเครื่องดนตรีเฉพาะ หรือนักร้องประสานเสียง ยังเปิดโอกาสเพิ่มเติมให้ นักเรียนมัธยม นักศึกษาจากสถาบันอื่น และนิสิตเก่า เข้าร่วมกิจกรรมได้

การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นกิจกรรมที่ทางวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ได้จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นแหล่งในการเรียนรู้ทางด้านดนตรีแก่สังคม โดยได้เชิญวิทยากร ผู้อำนวยเพลงที่มีชื่อเสียงมาให้ความรู้ อาทิ

  • เทศกาลขับร้องประสานเสียง (CU Choral Fest) ที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา และนักร้องประสานเสียงจากวงขับร้องประสานเสียงทั่วประเทศมาเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการและขับร้องในการแสดงคอนเสิร์ตร่วมกัน โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา และยุโรป
  • ค่ายนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย (Thailand Youth Choral Camp) มีคณะนักร้องประสานเสียงจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ และในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมามีนักร้องจาก Malaysian Institute of Art (MIA) ประเทศมาเลเซียเข้าร่วมการเข้าค่าย เพื่อเรียนรู้การขับร้องประสานเสียง ความรู้ทางด้านดนตรี การรู้จักและสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ ผ่านการอบรม โดยวิทยากร Assoc. Prof. Dr. T.J. Harper, Chair of the ACDA Standing Committee on International Activities, and the Director of the ACDA International Conductors Exchange Program (ICEP) และ ดร. ภาวศุทธิ์ พิริยะพงษ์รัตน์ ผู้อำนวยเพลงคณะนักร้องประสานเสียงจุฬาฯ

บทบาทการเผยแพร่ความรู้ทางด้านดนตรีสู่สังคมยังถ่ายทอดผ่านการเดินทางไปแสดงดนตรีนอกสถานที่ (Tour Concert) ยังจังหวัดต่าง ๆ ภายในประเทศ เพราะนอกจากการแสดงดนตรีแล้วยังได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในลักษณะ “พี่สอนน้อง และเพื่อนสอนเพื่อน” ในแต่ละพื้นที่อีกด้วย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งการถ่ายทอดและการรับรู้ (Two Ways Learning) ระหว่างกัน

การดำเนินกิจกรรมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ได้ดำเนินนโยบายทางด้านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางด้านดนตรีออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น คลิปการบรรเลงดนตรีในลักษณะการบรรเลงจากต่างที่ (CU We Play) การจัดแสดงดนตรีที่ปราศจากผู้ชมในหอแสดงดนตรี (Virtual Art Music Series) รายการสดพูดคุยด้านดนตรีและศิลปวัฒนธรรม (Art & Culture Talk) และมีแผนการจัดทำอบรมเชิงปฏิบัติการและสัมมนาเชิงวิชาการในระดับนานาชาติ (ทางไกล) ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งภายใต้วิกฤตการณ์ดังกล่าว ด้วยมีอุปสรรคและข้อจำกัด กระนั้นก็ยังก่อให้เกิดการเชื่อมต่อโลกวิชาการได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และผู้คนที่สนใจก็สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และกิจกรรมทางด้านดนตรีได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

นวัตกรรมด้านดนตรีกับการประกอบอาชีพและประโยชน์ต่อการเรียนการสอน

นอกเหนือจากการสร้างกิจกรรมทางด้านดนตรี ผลทางอ้อมของวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ก่อให้เกิดงานในอีกหลายประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการระบบเสียง (Sound System) ที่ปัจจุบันมีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปทำธุรกิจนี้โดยได้นำความรู้ความเข้าใจทางด้านเสียงทางดนตรีคลาสสิกไปใช้ และได้รับการยอมรับจากวงการดนตรีอย่างมาก เช่น ประทีป เจตนากูล เดช ไตรวัฒนาภรณ์ เกรียงไกร เตรียมชาญชูชัย ฯลฯ มีการนำเอา Software และ Application ทางด้านดนตรีเข้ามาสนับสนุนในการเรียนการสอนและการทำงานทางด้านดนตรี ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เห็นการก้าวกระโดดของการใช้เทคโนโลยีในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด โดยเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอน และการดำเนินกิจกรรมของวงซิมโฟนีฯ และทำให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นในการศึกษาเทคโนโลยีด้านนี้อย่างจริงจัง

นวัตกรรมทางด้านดนตรีอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ วงซิมโฟนีจุฬาฯ มีการเรียบเรียงเสียงประสานบทเพลงสำหรับกลุ่มเครื่องดนตรีเดียวกัน เนื่องเพราะโน้ตเพลงที่มีอยู่ไม่เพียงพอและบางครั้งไม่เหมาะกับเครื่องดนตรีที่มี ดังนั้นจึงต้องมีการนำเอาบทเพลงที่จะใช้ในการแสดงดนตรีมาเรียบเรียงเสียงประสาน (Arranged) หรือกระทั่ง Transcripted เพื่อความเหมาะสมกับรูปแบบของวงดนตรีที่มี

การสนับสนุนให้เกิดการบริโภคและการสร้างงานดนตรีอย่างยั่งยืน

ปัญหาสำคัญของวงการดนตรีคลาสสิกในปัจจุบันอีกประการหนึ่งคือ การสร้างกลุ่มผู้ชมผู้ฟังดนตรีรุ่นใหม่ขึ้นมาในยุคที่ผู้คนหันมาเสพงานดนตรีทางสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าการเข้าชมการแสดงดนตรีสด หรือซื้อผลงานดนตรีในรูปแบบต่าง ๆ  ซึ่งในอนาคตจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับนิสิต นักศึกษาที่จะประกอบอาชีพในด้านดนตรี วงซิมโฟนีออร์เคสตราฯ จึงได้มีความพยายามในการจัดการแสดงเพื่อเพิ่มมูลค่าของการเข้ามาชมการแสดง ดังเช่น การให้ความรู้ของบทเพลงผ่านพิธีกร เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกับผู้ชมมากขึ้น การสร้างสังคมระหว่างผู้ชมผ่านการพูดคุยก่อนการแสดง การร่วมสนุกโดยการสะสมจำนวนครั้งที่เข้าชม การปรับการแสดงให้มีสัดส่วนของวิชาการและความบันเทิงให้เหมาะสม แม้กระทั่งจัดการแสดงในแบบที่ใช้วงดนตรีตะวันตกบรรเลงบทเพลงไทยร่วมสมัยเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย อาทิ การแสดงบทเพลงล้านนา “ลำนำล้านนา” การแสดงบทเพลงประกอบละครโทรทัศน์ในอดีตในงาน “จำได้ในทีวี” และ “จำได้ในทีวี: หนังจีนในความทรงจำ” สามารถดึงดูดผู้คนมาสนใจรูปแบบวงดนตรีคลาสสิกได้เป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้มีกลุ่มผู้ชมเข้ามาชมงานดนตรีอื่น ๆ เพิ่มขึ้น การนำเอาวงดนตรีเข้าไปจัดแสดงในพื้นที่สาธารณะและชุมชนในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น การบรรเลงดนตรีระหว่างงานเลี้ยงรับรองการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 (Gala Dinner – 35th ASEAN Summit and Related Summits) การแสดงดนตรีในอุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Music in the Park) การแสดงดนตรี “รัก” ในวันแม่แห่งชาติ การแสดงในงานกาชาด คอนเสิร์ตการกุศลต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อสร้างความคุ้นชินให้กับสังคมให้รับรู้รูปแบบของวงดนตรีคลาสสิก นอกเหนือจากรูปแบบของวงดนตรีที่นิยมและคุ้นเคยในปัจจุบัน

การสนับสนุนให้เกิดการบริโภคและการสร้างงานดนตรีอีกหนทางหนึ่งที่สำคัญนั่นคือ การให้ความสำคัญกับลิขสิทธิ์ทางปัญญา ซึ่งวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ มีความพยายามในการจัดซื้อโน้ตเพลงและให้ความรู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ทางปัญญาอย่างเต็มที่เสมอมา เพื่อให้นักแต่งเพลง และนักเรียบเรียงเสียงประสาน ได้เห็นช่องทางในการดำเนินอาชีพต่อไปอีกด้วย

ความร่วมมือระดับนานาชาติ

ที่ผ่านมาวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ มีการร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศเสมอมา อาทิ

  • ความร่วมมือกับ American Choral Directors Association (ACDA) ในการส่งวิทยากรมาอบรมเชิงปฏิบัติการในเทศกาลขับร้องประสานเสียงตลอดมา โดยในปีล่าสุด (ปีพ.ศ. 2562) ได้รับเกียรติจาก ดร. รอลโล  ดิลวอร์ท (Dr. Rollo Dilworth) จาก Temple University, USA  รวมถึง ดร. ทีเจ ฮาร์เปอร์ (Dr. T. J. Harper –  Associate Professor of Music, Director of Choral Activities, and Chair of the Department of Music at Loyola Marymount University, USA) ให้เกียรติเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ (Artistic Director) และผู้อำนวยเพลงรับเชิญของค่ายนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย (Thailand Youth Choral Camp) ที่จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพจัดเสมอมา
  • วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ยังเป็นหน่วยงานในประเทศไทยที่ได้รับความไว้วางใจจาก World Youth Choir Foundation ให้เป็นผู้ดำเนินการทดสอบนักร้องประสานเสียง (Audition) เพื่อเป็นตัวแทนในการเข้าร่วมงานกิจกรรม World Youth Choir

วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมการแลกเปลี่ยนดนตรี และศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศ (Music Connection) เรื่อยมา สนับสนุนนิสิตไปแข่งขันและเข้าร่วมเทศกาลดนตรีในต่างประเทศ และต้อนรับวงจากต่างประเทศมาแสดงดนตรีที่จุฬาฯ  ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา วง The Viola Lovers ได้มีโอกาสไปแสดงดนตรีเชื่อมสัมพันธ์ โดยความร่วมมือกับ Penang Philharmonic Orchestra ณ สหพันธรัฐมาเลเซีย

วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาคารจามจุรี 9 ชั้น 6
วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น.
โทร. 02-218-0584
Facebook: https://www.facebook.com/cusymphonyorchestra/