พระตำหนักดาราภิรมย์เป็นที่ประทับของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ซึ่งหลังจากสิ้นรัชกาลแล้ว พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จกลับไปประทับ ณ นครเชียงใหม่ เป็นการถาวร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457  ทรงเลือกสร้างพระตำหนักดาราภิรมย์ในพื้นที่อำเภอแม่ริม ด้วยเพราะอยู่ไม่ห่างตัวเมืองเชียงใหม่นัก มีภูมิประเทศงดงาม มีภูมิอากาศดีและมีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ พร้อมแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร


อาคารพระตำหนักดาราภิรมย์ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างมีลักษณะเป็นใต้ถุนโล่ง โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก รองรับพระตำหนักชั้นบนและส่วนหลังคาที่เป็นโครงสร้างไม้ รูปแบบเป็นบ้านฝรั่งประยุกต์ตามความนิยมในช่วงเวลานั้น ด้านหน้าพระตำหนักยื่นเป็นมุขที่เทียบรถยนต์ มีบันไดทางขึ้นดาดฟ้าเพื่อชมทัศนียภาพจากมุมสูง ชั้นสองประกอบด้วยห้องขนาดใหญ่หลายห้อง มีลูกกรงและช่องลมลวดลายฉลุไม้อย่างงดงาม ด้านหลังยื่นเฉลียงต่อออกไป ด้านบนคลุมด้วยระแนงไม้ปลูกไม้เลื้อยให้ร่มเงาและบรรยากาศร่มรื่น สถานที่โดยรอบมีบริเวณที่เรียกว่า “สวนเจ้าสบาย” ประกอบด้วยสวนไม้ดอก ไม้ประดับ แปลงทดลองการเกษตร สวนผลไม้ ไม้ยืนต้นและสวนครัวอีกด้วย ปัจจุบันด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐานพระอนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี  ซึ่งทุกๆ ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดงาน “งานวันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี” เพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ สภาวัฒนธรรมอำเภอแม่ริม ตำรวจตระเวนชายแดน การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคเหนือ โรงเรียน และชาวอ.แม่ริม ในงานมีพิธีวางพวงมาลา การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ workshop งานศิลปหัตถกรรมล้านนา จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

ในปี พ.ศ. 2542 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงพระตำหนักให้มีความสมบูรณ์และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงประวัติความเป็นมา สิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และงานศิลปวัฒนธรรมตามขนบและรูปแบบล้านนา เพื่ออนุรักษ์และรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่  ด้วยความพยายามในการอนุรักษ์โบราณสถานและสถาปัตยกรรมตามรูปแบบเดิมให้คงอยู่อย่างสวยงาม จึงทำให้พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ในปี พ.ศ. 2543

นอกจากอาคารอนุรักษ์ที่งดงามแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้สร้าง “ห้องนิทรรศการรัศมีทัศนา” เพิ่มเติม ขนาดกว่า 135 ตารางเมตร เพื่อให้เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียน เผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะ ศาสนา ที่เกี่ยวเนื่องกับล้านนาและพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งมีผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์และร่วมกิจกรรมกว่า 30,000 คน ต่อปี

ในปีงบประมาณ 2564 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการยุทธศาสตร์: โครงการปรับปรุงพื้นที่ด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยงบประมาณจำนวน 9 ล้านบาท เพื่ออนุรักษ์และปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์และพื้นที่โดยรอบ  โดยในครั้งนี้ ดำเนินการซ่อมหลังคา ปรับเปลี่ยนไม้และส่วนต่างๆ ที่ผุพังเสียหาย ทาสีอาคารพระตำหนักใหม่หมดทั้งหลัง รวมถึงปรับปรุงอาคารนิทรรศการรัศมีทัศนา และอาคารสำนักงาน ห้องสมุด ห้องจัดเก็บวัตถุสิ่งทรงคุณค่า ห้องสุขา พื้นที่จัดแสดงนาฏศิลป์ ดนตรี และพื้นที่รับรองนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการอีกด้วย

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เบาบางลงในปลายปี 2564 นี้ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ เข้าเยี่ยมชมได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างครบครัน เพื่อมอบความยั่งยืนในด้านประวัติศาสตร์ ทั้งสถาปัตยกรรม และศิลปวัฒนธรรม สืบไป

พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์

เปิดทำการวันพุธ ถึง วันอาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ปิดเฉพาะวันจันทร์และวันอังคาร)
เวลา 9.00-17.00 น.
โทร. 0-5329-9175
ค่าเข้าชมสถานที่:
– เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี / พระสงฆ์ / นักเรียนในเครื่องแบบ เข้าชมฟรี
– ผู้ใหญ่ และชาวต่างชาติ 20 บาท
Facebook: https://www.facebook.com/DaraphiromPalace/

ข้อมูลพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ https://www.cuartculture.chula.ac.th/en/department/daraphirom-palace-museum/
งานวันพระราชชายาเจ้าดารัศมี ปี 2563 https://www.chula.ac.th/news/36668/
เว็บพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/613

บทความปี 2021
ภาษาไทย พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์กับการเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนา – สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (chula.ac.th)
ภาษาอังกฤษ Daraphirom Palace Museum as a Learning Resource of Lanna Culture – Office of Art & Culture, Chulalongkorn University