ในสมัยของพระญาธัมมลังกา เป็นยุคสมัยที่สืบเนื่องต่อจากพระเจ้ากาวิละ กล่าวคือเป็นยุคแห่งการก่อร่างสร้างเมือง ซ่อมแซมเมือง พระญาธัมมลังกาถือเป็นผู้ที่มีบทบาทมากในสมัยพระเจ้ากาวิละ ทั้งเป็นผู้ช่วยราชการ และยกกำลังพลไปกวาดต้อนผู้คนให้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เรียกว่าอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่พระเจ้ากาวิละเสมอมา จนได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้ากรุงธนบุรีให้เป็นอุปราชเมืองลำปาง ภายหลังได้รับแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ให้เป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ กระทั่งเมื่อพระเจ้ากาวิละถึงแก่พิราลัย เจ้าอุปราชได้รักษาราชการเมืองเชียงใหม่สืบต่อมา และเชิญเจ้าคำฝั้น เจ้าเมืองลำพูนมาเป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่

พระญาธัมมลังกา ได้สมญานามว่าพระเจ้าช้างเผือก เหตุเพราะได้นำช้างเผือกเอก 1 เชือก ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระญาธัมมลังกาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ชักชวนประชาชนให้ทำบุญทำทาน ฟังธรรม จำศีลและสร้างพุทธศาสนสถานจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการบูรณะวัดวาอาราม ขุดเหมืองและบูรณะกำแพงเมืองด้วย

พระญาธัมมลังกาเป็นบุตรคนที่ 3 ของเจ้าฟ้าชายแก้วกับแม่เจ้าจันทา ประสูติเมื่อพ.ศ.2289 พระญาธัมมลังกาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่เมื่ออายุได้ 70 ปีแล้ว จากนั้นครองเมืองเชียงใหม่ได้ 7 ปี ก็ถึงแก่พิราลัย เมื่อพ.ศ.2364 ที่กรุงเทพฯ สิริอายุรวม 77 ปี

ในด้านครอบครัว นางเทวีของพระญาธัมมลังกาชื่อแม่เจ้าจันฟองมีบุตรธิดารวม17ท่าน เป็นชาย 6 ท่าน และหญิง 11 ท่าน คือ
1.เจ้าหญิงสรีพิมพา (ศรีปิมปา)
2.เจ้าหนานมหาวงส์ (ภายหลังคือพระเจ้ามโหตรประเทศฯ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 5)
3.เจ้าน้อยฅำแสน (เจ้าเมืองเชียงราย)
4.เจ้าน้อยหน่อฅำ (เป็นเจ้าราชวงศ์ ภรรยาชื่อบุนนาค)
5.เจ้าน้อยพรหมา (อยู่บ้านเมืองลาว)
6.เจ้าหนานอินทา (อินตา)
7.เจ้าน้อยมหาพรหม (ไปอยู่เมืองลวงเหนือ)
8.เจ้าฟ้าสุธัมมา
9.เจ้าหญิงทุมมา (เจ้าหญิงปทุมมา)
10.เจ้าหญิงฅำทิพ
11.เจ้าหญิงบัวฅำ
12.เจ้าหญิงองค์ทิพ
13.เจ้าหญิงกาบแก้ว
14.เจ้าหญิงปุญปัน
15.เจ้าหญิงเกียงฅำ(เกี๋ยงคำ)
16.เจ้าหญิงแก้วยวงฅำ (ภรรยาของเจ้าเมืองเชียงราย-หนานสุยะ)
17.เจ้าหญิงจันท์เพง (จันทร์เป็ง)

ที่มาข้อมูล
-คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่ ร่วมกับสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เจ้าหลวงเชียงใหม่. บ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน), 2539.
-กู่เจ้าหลวงนครเชียงใหม่.เอกสารที่ระลึกวันพิธีสักการะกู่เจ้าหลวงนครเชียงใหม่,2552.

ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์