
ระบำสมโภชช้างเผือก
ระบำสมโภชช้างเผือก เป็นบทร้องที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงนิพนธ์ขึ้น ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จมณฑลพายัพ ปีพ.ศ.2469 ซึ่งเป็นการแสดงที่กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่บทซอสมโภชช้างเผือกนี้ เป็นบทเฉพาะ มีความแตกต่างจากบทถวายสดุดี คือ เป็นการขับซอในทำนองต่าง ๆ ของล้านนา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณ ผนวกกับมีท่ารำประกอบ โดยเป็นการผสมผสานท่ารำของทางภาคกลางและล้านนาให้เกิดการแสดงชุดใหม่ขึ้น โดยผู้ประพันธ์คือท้าวสุนทรพจนกิจ กวีประจำราชสำนัก โดยมีพระราชชายาคอยขัดเกลาสำนวน และคำที่เหมาะสมกับพระมหากษัตริย์ บทร้องจึงเป็นคำราชาศัพท์ผสมกับคำพื้นเมือง โดยมีเนื้อความ ดังนี้
ทำนองโยนก
สรวมชีพ ข้าบาทไท้ อภิวาทไหว้เหนือ เกศี ดิลกรัฐนฤบดี แทบฝ่าธุลีละอองบาทเจ้า พระเดชพระคุณ พระปกเกศเกล้า ไพร่ฟ้าอยู่จุ้มสุข เย็นเนอ
ทำนองซอยิ้น
สา น้อมเกล้า ข้าพระพุทธเจ้า กราบทูลฉลอง บทรัตน์ พระยุคลทอง ใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาท
บรมนารถ พระปกเกศเกล้า ตังพระแม่เจ้า บรมราชินี ทรงบุญฤทธิ์ พระบารมี เป็นตี้ยินดี ทุกคนน้อยใหญ่
จังหวัดเจียงใหม่ ไพร่ฟ้าข้าเจ้า ตังหนุ่มตังเฒ่า ทั่วทิศตังผอง ได้ปิงเปิ้งป๊ะ พระร่มโพธิ์ทอง เป็นฉัตรเรืองรอง ปกบังกั้งเกศ
ปอรู้ข่าวสาส์น เสด็จประเวศน์ อินทรทิพย์เทพ ก็โมทนา หื้อสายเมฆะ ฟ้าฝนธารา ไหลหลั่งลงมา ทั่วพื้นแผ่นหล้า
ธัญญาหาร พฤกษะข้าวกล้า ของปลูกลูกไม้ ก็บริบูรณ์เพื่อเพื่อเจ้าฟ้า มหาชะกู๋น ท่านทรงบุญคุณ มีเป๋นเอนก
อารักษ์เจนเมือง อันเรืองฤทธิ์เดช ตังเตเวศร์เจ้า ก็แสร้งแป๋งปั๋น หื้อกุญชเรศร์ เศวตเรืองพรรณ เกิดมาเตื่อมตัน สมปารพระบาท
พระปรมินทร์ ประชาธิปกโลกนารถ ปิยมหาราช หน่อพุทธางกูร กันบ่ไจ่เจื้อ เจ้าต๋นทรงบุญ ฉัตร์ทันต์ขะกู๋น ไป่ห่อนมาเถิด
วันนี้หนา เป็นวันล้ำเลิศ เป๋นวันประเสริฐ ฤกษ์งามยามดี จิ่งทำมังกะละ เบิกบายรวายษี ต๋ามประเพณี สมโภชจ๊างแก้ว
ศรีสวัสดิ์ พิพัฒน์ผ่องแผ้ว เจิญขวัญจ๊างแจ้ว จงรีบจรดล จุ่งมาเป๋นจ๊าง ตี้นั่งมงคล โดยพระจ๋อมพล เจ้าต๋นเลิศหล้า
จุ่งสุขสำราญ แต่นี้ปายหน้า หื้อเจ้าอยู่ม่วนกิ๋นดี เป๋นพาหนะ คู่พระบารมี เฉลิมเกียรตินฤบดี ตลอดเต๊ากุ้มเฒ่า
ทำนองซอจ๋อยเจียงแสน
ยอผนม บังคมก่ายเกล้า เท่านี้กราบทูลองค์ ขอหื้อทรงเดชฤทธิ์ ตั้วด้าวแสนโขงปายหน้า ทรงคะนึงใด อย่าได้กาไกเนิ่นจ๊า หื้อจ๋อมนรินทร์ปิ่นฟ้า อยู่เสวยราชย์ยืนเดอ
ในปัจจุบันระบำสมโภชช้างเผือกนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าฟ้อนมูเซอหรือระบำซอ เนื่องด้วยการแต่งกายที่มีลักษณะเป็นชาวกะเหรี่ยง จึงเรียกการแสดงนี้ว่าฟ้อนมูเซอ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเรียกมาเป็นระบำซอ โดยเจ้าหญิงบัวทิพย์ บุตรีของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ ได้มีการตัดทอน เปลี่ยนแปลงบทร้องให้สั้นและกระชับเหมาะสมกับการแสดงมากขึ้น
เนื้อร้องเพลงระบำซอ ของเจ้าหญิงบัวทิพย์
สาน้อมไหว้ ข้าบาทไท้กราบทูลสานสา
ยังตะไหลรัตนา อันมีบุญญาเลิศล้ำสาอาด
พุทธคุณอันพิลาส ทั้งข้าเจ้าจู้องค์องค์
เทพารักษ์ทั่วทั้งโขลง มนุษย์พุทธทรงพระองค์ผายโผด
ขออัญเจิญพระมากู่โนช เสด็จมาโปรดสะมาตาน
มาพร้อมเพื่อภิวันท์ โผดสัตว์นั้น ป้นจักสงสาร
พูข้าน้อยร้องรำขับขาน บำเรอบาปพระศาสนา
ช่วยบำรุงอาวาสวัดวา หื้อถาวรา ต่อไปเบื้องหน้า
สรรเพ็ชญ์จู้องค์องค์ เมื่อยามทรงพระทรมาน
หมู่จุมทุกประก๋าน ขอบันดาลพุทธปิมปา
ท่านทั้งหลายหญิงจายเจ้าข้า ซึ่งมาพร้อมปราโมทย์โมตาน
จ้วยเอาบุญเอาคุณจิ่มกั๋น ทุกหญิงชายใหญ่น้อยแก่เฒ่า
ยอพนมบังคมก่ายเกล้า เท่านี้กราบวันทา ขอ สุขสามประการ ต่อไปเบื้องหน้า สวรรค์นิปานเมืองฟากฟ้า จุ๋งเป๋นที่ก่อไปเกิด
โดยเนื้อร้องของเจ้าหญิงบัวทิพย์มีความหมายถึงการอัญเชิญคุณพระศรีพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนวยอวยพรให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับบุญกุศลไปพร้อมกัน จึงนิยมใช้เนื้อร้องนี้สำหรับการแสดงมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มาข้อมูล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สายใยรักสองแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553.
สายสวรรค์ ขยันยิ่ง.พระราชชายาเจ้าดารารัศมีกับนาฏยศิลป์ล้านนา.วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย ภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543.
ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์