คำว่า”เจ้า” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ ผู้เป็นหัวหน้า เช่น เจ้านคร ส่วนคำว่า “หลวง” หมายถึง ใหญ่, ผู้เป็นใหญ่ เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันเป็นคำว่าเจ้าหลวง ก็สามารถแปลความหมายได้ว่าผู้ที่เป็นผู้นำสูงสุด ผู้เป็นใหญ่ในเมือง มีฐานะเป็นเจ้าชีวิตของคนทั่วไป โดยคำว่า ”เจ้าหลวง” เป็นคำที่ใช้เรียกในสมัยธนบุรี-รัตนโกสินทร์ เป็นคำเรียกผู้นำสูงสุดในเมืองเอก คือ เมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน

ความเป็นมาของเมืองเชียงใหม่ได้เริ่มขึ้นในตอนที่พระญามังรายได้เชิญพระสหาย คือ พระญาร่วง(พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)และพญางำเมือง(พ่อขุนงำเมือง) มาพิจารณาสร้างเมืองใหม่เพื่อจะเป็นศูนย์กลางของล้านนา จึงได้พิจารณาที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงใกล้เชิงดอยสุเทพ โดยได้สร้างกำแพงเมือง ล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ทรงขนานนามเมืองนี้ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” จากนั้นเมืองเชียงใหม่ก็มีกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายปกครองมาตลอด เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์มังราย เมืองเชียงใหม่ว่างเว้นจากเจ้าผู้ครองนคร จึงถูกปกครองโดยพม่าและกรุงศรีอยุธยามาโดยตลอดระยะเวลาร่วมสองร้อยปี กระทั่งเมื่อถึงสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี(สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ชาวบ้านพยายามรวบรวมกำลังพลเข้ากันเพื่อที่จะเป็นอิสระจากพม่าหลายครั้ง และได้รับความสำเร็จเป็นครั้งคราว กระทั่งมีนายพรานผู้หนึ่ง ชื่อทิพช้าง (ทิพย์ช้างหรือทิพย์จักร) เป็นนายกอง ยกพลขับไล่พม่าออกไปได้ จึงได้รับการอภิเษกเป็นพระญาสุลวฦาชัยสงครามและได้ครองเมืองลำปาง ต่อมาพม่ายึดลำปางได้อีก ฝ่ายพม่าจึงแต่งตั้งให้เจ้าฟ้าชายแก้ว บุตรของพระยาสุลวฦาชัยสงคราม ครองเมืองลำปางต่อ กระทั่งพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพมาตีพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกันพระญาจ่าบ้านแห่งเมืองเชียงใหม่ได้ชักชวนเจ้ากาวิละบุตรของเจ้าฟ้าชายแก้วให้เป็นพันธมิตรต่อกันและขอกำลังพลจากกรุงธนบุรีขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่ได้สำเร็จ พระญาจ่าบ้านจึงถูกแต่งตั้งให้เป็นพระญาวิเชียรปราการ เจ้านครเชียงใหม่คนแรกหลังจากขับไล่พม่าเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งทรงตั้งเจ้ากาวิละเป็นพระญากาวิละ ครองนครลำปาง โดยขึ้นกับกรุงธนบุรี แต่ภายหลังพม่ายังคงมารุกรานเชียงใหม่ ข้าวของเสียหาย พลเมืองหนีกระจัดกระจายจนเชียงใหม่กลายเป็นเมืองร้างอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงโปรดให้พระญากาวิละ เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระญาจ่าบ้าน และต้อนผู้คนจากหัวเมืองต่างๆเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเชียงใหม่ เพื่อที่จะฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นศูนย์กลางของล้านนาได้ในเวลาต่อมา

และนอกจากนี้ยังทรงแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ คือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนหรือราชวงศ์ทิพย์จักร ปกครองเมืองเชียงใหม่นับตั้งแต่พระเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 1 จนกระทั่งถึงพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย(องค์ที่9)

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงราชวงศ์ “เจ้าเจ็ดตน” อันเป็นต้นราชสกุลของเจ้านายที่ปกครองเมืองเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูนและลำปาง อีกทั้งยังเป็นบรรพบุรุษของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีด้วย

เจ้าฟ้าชายแก้ว เจ้านครลำปาง ราชบุตรของพระยาสุลวฦาชัยสงคราม(หนานทิพย์ช้าง) ได้เสกสมรสกับแม่เจ้าจันทาเทวี มีราชบุตรทั้งหมด 7 องค์ และพระธิดา 3 องค์ ดังนี้
1. เจ้ากาวิละ เป็นพระเจ้าเชียงใหม่องค์ที่1
2. เจ้าคำโสม เป็นพระยานครลำปาง
3. เจ้าน้อยธรรม(เจ้าธัมมลังกา) เป็นพระยาเชียงใหม่องค์ที่2
4. เจ้าดวงทิพย์ เป็นพระยานครลำปาง
5. เจ้าศรีอโนชา (ญ) เป็นเจ้าครอก(พระอัครชายาเธอ) ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
6. เจ้าศรีปัญญาหรือเจ้าสรีวัณณา (ญ) เสียชีวิตตั้งแต่เล็ก
7. เจ้าหมูหล้า เป็นเจ้าอุปราชนครลำปาง
8. เจ้าฅำฝั้น เป็นพระยาเชียงใหม่องค์ที่3
9. เจ้าศรีบุญทัน (ญ) เสียชีวิตตั้งแต่เล็ก
10. เจ้าบุญมา เป็นพระยานครลำพูน

ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนหรือราชวงศ์ทิพย์จักรนี้หมายรวมถึงบุตรหลานของบุคคลที่สืบทอดตระกูลจากพระยาสุลวฦาชัยสงครามด้วย โดยเจ้าหลวงใหม่ ทั้ง 9 พระองค์ มีลำดับดังนี้
1. พระเจ้ากาวิละ ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2324-2358
2. พระญาธัมมลังกา ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2359-2364
3. พระยาฅำฝั้น ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2364-2367
4. พระญาพุทธวงส์ ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2367-2389
5. พระเจ้ามโหตรประเทศ(พระยามหาวงศ์) ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2390-2396
6. พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2396-2413
7. พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2413-2440
8. เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2440-2452
9. พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2452 – 3 มิถุนายน พ.ศ.2482

ที่มาข้อมูล
-คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่ ร่วมกับสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เจ้าหลวงเชียงใหม่. บ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน), 2539
-กู่เจ้าหลวงนครเชียงใหม่.เอกสารที่ระลึกวันพิธีสักการะกูเจ้าหลวงนครเชียงใหม่,2552.

ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์