ยุคของพระเจ้ากาวิละนั้นเรียกว่าอยู่ในช่วงของสงครามอย่างแท้จริง เป็นการสู้รบกับพม่าอย่างหนักทำให้พลเมืองหนีกระจาย บ้านเรือนถูกทิ้งร้าง เชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองร้างอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งเจ้ากาวิละได้ต้อนกำลังคนมาเพื่อฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซ่อมแซมวัดวาอารามให้สวยงามดังเดิม โดยมักเรียกยุคนี้ว่ายุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” และเมื่อเชียงใหม่เจริญขึ้นแล้วนั้น พระยามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว(พระยศของเจ้ากาวิละในขณะนั้น) เจ้าอุปราช และเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว พร้อมข้าราชบริพาร ร่วมกันตั้งชื่อเมืองนี้ว่า “รัตนติงสาอภินวปุรี” และโปรดให้ก่อรูปช้างเผือกสองเชือกไว้ที่ทิศเหนือของเมืองด้วย โดยเชือกที่หันไปทางเหนือมีชื่อว่า”ปราบจักกวาฬ” อีกเชือกหนึ่งหันไปทิศตะวันตกชื่อว่า “ปราบเมืองมารเมืองยักข์” (อนุสาวรีย์ช้างเผือกในปัจจุบัน) และย้ายเสาอินทขีลจากวัดสะดือเมืองไปไว้ที่บริเวณวัดเจดีย์หลวง (หออินทขีลในบริเวณวัดเจดีย์หลวงปัจจุบัน)

ภายหลังการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ เจ้ากาวิละลงไปกรุงเทพเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2322 เนื่องจากไปทำร้ายข้าหลวงจากกรุงธนบุรีที่ข่มเหงราษฎร และรับโทษโดยการถูกปาดที่ขอบหูเพราะขัดขืนการเรียกให้เข้าเฝ้าหลายครั้ง และเมื่อกราบทูลขอแก้โทษและแถลงข้อราชการต่าง ๆ แล้ว ภายหลังพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ได้ตั้งเจ้ากาวิละ เป็นพระญามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว และภายหลังถูกแต่งตั้งพระยศ เป็นพระบรมราชานราธิบดีศรีสุริยวงศ์ องค์อินทสุรศักดิสมญามหาขัติยราชชาติราชาไชยสวรรย์ เจ้าขัณฑเสมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี ศรีสวัสดีฑีฆายุสมอุดม เป็น “พระเจ้าเชียงใหม่” ซึ่งเป็นใหญ่ในล้านนา 57 หัวเมือง และขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯในฐานะเจ้าประเทศราช

เจ้ากาวิละ เป็นบุตรคนแรกของเจ้าฟ้าชายแก้วกับแม่เจ้าจันทา ประสูติเมื่อพ.ศ.2285 เมื่ออายุได้ 40 ปี พระองค์ต่อสู้ชิงบ้านเมืองจากพม่า จึงอพยพผู้คนไปอยู่ที่เวียงป่าซาง และย้ายกลับมาที่เชียงใหม่ รวมระยะเวลาการครองเมืองแผ่นดินทั้งสิ้น 32 ปี พิราลัยเมื่อพ.ศ.2358 สิริรวมพระชันษาได้ 75 ปี

พระเจ้ากาวิละมีนางเทวีชื่อโนชา มีทายาทชาย 4 ท่าน และหญิง 1 ท่าน ดังนี้
1. เจ้าน้อยสุริยฆาฏ ได้เป็นเจ้าราชบุตรเชียงใหม่
2. เจ้าหนานสุริยวงศ์ ได้เป็นเจ้าบุรีรัตน์เป็นอุปราช ต่อมาดำรงตำแหน่ง “พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์” เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 6
3. เจ้าหนานมหาวงศ์ เสกสมรสกับเจ้าบุญนำ ธิดาของเจ้าหลวงเสฏฐีฅำฝั้น
4. เจ้านางฅำใส
5. เจ้าหนานไชยเสนา เสกสมรสกับเจ้านางสมธา ธิดาของเจ้าหลวงเสฏฐีฅำฝั้น

ที่มาข้อมูล
-คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่ ร่วมกับสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เจ้าหลวงเชียงใหม่. บ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน), 2539.
-กู่เจ้าหลวงนครเชียงใหม่.เอกสารที่ระลึกวันพิธีสักการะกูเจ้าหลวงนครเชียงใหม่,2552.

ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์