พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ โอรสของพระเจ้าอินทวิชยานนท์กับหม่อมเขียว สมภพเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2405 ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย)

พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐได้เข้ารับราชการตั้งแต่อายุ 15 ปี คือคอยช่วยพระบิดาทำราชการและอื่น ๆ อีกมาก จนกระทั่งพ.ศ.2454 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นมา ภายหลังได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นนายพลตรี, ราชองครักษ์พิเศษ, นายทหารพิเศษ และยังได้รับพระราชทานนามสกุลแก่พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐและทายาทในสายสกุลเจ้าเจ็ดตนว่า “ณ เชียงใหม่”

ด้านการศาสนา เจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก นอกจากการบำเพ็ญกุศลในวาระต่าง ๆ แล้ว ยังได้สนับสนุนให้เจ้าน้อยศุขเกษม และเจ้าอินทนนท์ผู้เป็นบุตรบวชเรียนในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังได้สร้างพระวิหาร, พระพุทธรูป และบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก

ในสมัยของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ การค้าและการเศรษฐกิจรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการเปิดการค้าเสรีตามสนธิสัญญาเบาว์ริง เชียงใหม่จึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าฝ่ายภาคเหนือ ค้าขายสินค้ากับประเทศใกล้เคียง เช่น พม่า จีน และชาติตะวันตก เป็นต้น

ด้านครอบครัว เมื่ออายุ 22 ปี ได้เสกสมรสกับแม่เจ้าจามรี ธิดาของเจ้าราชภาคิไนย(แผ่นฟ้า) ต่อมามีหม่อมอีกหลายพระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงไฝ, หม่อมบัวเขียว, หม่อมแส และมีบุตรธิดา 6 คน ดังนี้

เกิดแต่แม่เจ้าจามรี
1.เจ้าอุตรการโกศล (เจ้าน้อยศุขเกษม)
2.เจ้าหญิงบัวทิพย์
3.เจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน) บิดาของเจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี ,เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน ,คุณหญิงเจ้าระวีพันธุ์ สุจริตกุล

เกิดแต่หม่อมบัวเขียว
4.เจ้าพงษ์อินทร์ บิดาเจ้าวงศ์สักก์ ,เจ้าสมพงษ์ ,เจ้าเติมศักดิ์, เจ้าพิมพ์ผกา ณ เชียงใหม่
5.เจ้าหญิงศิริประกาย มารดาเจ้าพงศ์กาวิล,เจ้าศิริกาวิล,เจ้ากอแก้ว ประกายกาวิล ณ เชียงใหม่
6.เจ้าอินทนนท์ บิดาเจ้ารัตนินทดนัย,เจ้าวิไลวรรณ, เจ้าสรรพสมบูรณ์,เจ้าไพรฑูรย์ศรี,เจ้าวีระยุทธ ณ เชียงใหม่

เจ้าแก้วนวรัฐถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2482 สิริอายุรวม 77 ปี ภายหลังจากที่พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐถึงแก่อสัญกรรม ถือว่าเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าหลวงเชียงใหม่ ทางราชการจึงได้ยุบตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ ถึงสมัยของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นเวลาถึง 157 ปี

ที่มาข้อมูล
-คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่ ร่วมกับสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เจ้าหลวงเชียงใหม่. บ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน), 2539.
-กู่เจ้าหลวงนครเชียงใหม่.เอกสารที่ระลึกวันพิธีสักการะกู่เจ้าหลวงนครเชียงใหม่,2552.

ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์