ละครร้องเรื่องน้อยไจยา พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้รับแนวคิดมาจากละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โดยบทละครน้อยไจยานี้ประพันธ์โดยท้าวสุนทรพจนกิจ กวีประจำราชสำนักเชียงใหม่ ที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงอุปถัมภ์ พระราชชายาฯ ทรงแก้ไขบทละครบางตอนให้เหมาะสม ทั้งยังประพันธ์คำร้องประกอบทำนองเพลงพื้นเมืองของเชียงใหม่ และทรงประทานให้แสดงในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันประสูติ 48 พรรษา (พ.ศ.2464) ภายหลังพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าหญิงอาทรทิพยนิภา ทรงขอบทละครนี้ให้คณะละครของพระองค์จัดแสดง ละครร้องเรื่องนี้จึงเป็นที่รู้จักในกรุงเทพฯ และมีชื่อเสียงมาก
ในปัจจุบัน เพลงประกอบละครร้องเรื่องน้อยไจยายังคงได้รับความนิยมมาก และเรื่องราวบทละครก็ยังถูกนำมาทำเป็นละครโทรทัศน์อยู่หลายครั้ง
ละครร้องเรื่องน้อยไจยา หลายท่านอาจมีความสับสนเกี่ยวกับชื่อของละครไม่มากก็น้อย คำว่าน้อยไจยานั้น หาได้มาการที่ฝ่ายหญิงน้อยใจฝ่ายชาย หรือฝ่ายชายน้อยใจฝ่ายหญิงไม่ หากแต่เป็นสรรพนามในการใช้เรียกคนในภาษาเหนือ
คำว่า “น้อย” หมายถึงผู้ที่ผ่านการบวชเป็นสามเณรและลาสิกขาจากการเป็นสามเณร
ส่วนคำว่า“หนาน” หมายถึงผู้ที่ผ่านการบวชเรียนเป็นพระภิกษุและลาสิกขาจากการเป็นภิกษุ
โดยพระเอกของเรื่องมีชื่อว่าไจยา จึงเรียกบุคคลนี้ว่าน้อยไจยา และเป็นที่มาของชื่อละครร้องเรื่องนี้
โดยมีเนื้อเรื่องย่อ ดังนี้
* น้อยไจยา บุตรชาย พญาสามล้านเชียงใหม่
* แว่นแก้ว ลูกสาวท้าวไชยลังกา
* ส่างนันตา พ่อค้าไม้ชาวพม่า (ชายหนุ่มผู้มาชอบพอแว่นแก้ว)
เป็นเรื่องราวของหนุ่มสาว และรักสามเส้า
น้อยไจยาและแว่นแก้วต่างก็ชอบพอกัน โดยทั้งสองครอบครัวก็มีความสนิทชิดเชื้อกันมาก จึงตกลงปลงใจว่าจะให้ทั้งคู่แต่งงานกัน อยู่มาวันหนึ่ง ส่างนันตาพ่อค้าชาวพม่าได้พบเห็นแว่นแก้ว ก็รู้สึกพึงพอใจชอบพอแว่นแก้ว ด้วยความใจร้อนจึงให้ผู้ใหญ่มาสู่ขอ แต่เจ้าไชลังกาก็ยังมิได้ตกปากรับคำด้วยเกรงใจพญาสามล้านผู้เป็นเพื่อนสนิท และไม่อยากบังคับขัดใจลูกสาวและต้องการสอบถามแว่นแก้วก่อน แต่แม่ของแว่นแก้วพอใจในส่างนันตาเพราะเป็นคนมีฐานะ เมื่อแว่นแก้วรู้เรื่องเข้า จึงนัดพบน้อยไจยามาที่น้ำตกห้วยแก้วเพื่อปรึกษา เจรจาพูดคุย ด้านส่างนันตามาเห็นเข้าจึงไปฟ้องบิดาของแว่นแก้ว และใส่ความน้อยไจยาต่างๆนานา ทำให้เกิดเรื่องใหญ่โตถึงขั้นขึ้นศาล แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นความจริงอย่างที่ส่างนันตาพูด ศาลตัดสินให้น้อยไจยาไม่มีความผิด ทั้งคู่จึงได้แต่งงานกัน
พระนิพนธ์ในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี จากบทละครเรื่องน้อยไจยา ทรงนิพนธ์บทเกี้ยวพาราสีระหว่างน้อยไจยากับแว่นแก้วเพิ่มเติมเป็นภาษาพื้นเมือง ดังนี้
ทำนองเพลงล่องน่าน
ดวงดอกไม้ เบ่งบานสลอน ฝูงภมร ภู่เผิ้งสอดไซ้
ดอกพิกุล ของเปิ้นต้นใต้ ลงปั๊ดไม้ ไปเถิงบ้านตู๋
ฮู้แน่ซัด เข้าสอดสองหู ว่าสีจมปู ถูกป้ำเก๊าเนิ้ง
เก๊ามันต๋าย ป๋ายมันเสิ้ง ลำเกิ่งเนิ้ง ป๋ายโก้นตวยแนว
ดอกพิกุล คือว่าดอกแก้ว ก็เป๋นของเปิ้น แล้วเนอ
แต๋ม เก๊าเนิ้ง กิ่งมันบ่ถอน บ่ไหวเฟือนคอน
เตี้ยงมั่นแต๊เล้า ต๋ามกำลม ตี้ปั๊ดออกเข้า มีแต่เก๊า
ไหลหวั่นคอนเฟือน กิ่งมันแต้ บ่แซเสลือน
บ่เหมือนลมเจย รำเพยก็เจื้อนั้น อันใจ๋คำญิง
น้องหนิมเตี้ยงมั่น บ่เป๋นของเปิ้น คนใดยัง เป๋นกระจก แว่นแก้วเงาใส บ่ไหวคอนเหงี่ยง จ๊ายเนอ
ตั๋วปี้น้อย จะขอถาม ต๋ามกำลม ตี้เปิ้นเล่าอู้
ว่านายฟู่เจ้า บ้านวังสิงห์คำ ฝ่ายตางปุ๊นเปิ้นมาใส่ประจ๋ำ บ้านวังสิงห์คำ เปิ้นมาหมั้นไว้แล้ว ปายปั๋นตั๋ว
น้องนางแว่นแก้ว ก็ตกลงแล้ว บ่ไจ้กาหา เปิ้นจักกิ๋นแขก แต่งก๋ารวิวาห์ เมื่อใดจา ปี้ไค่ฮู้เก๊า อันตั๋วไจยานี้ บ่สมเปิงเจ้า เพราะเขียมข้าวของ เงินทอง ฝ่ายตังนาย บ่หมายเจตน์ข้อง มาละหมองต่ำ ก๊อยเนอ
ตั๋ว น้องนี้ บ่ล่าไหลหลง ก๋ารตกลง ก็ยังบ่แล้ว จิ่งเจิญตั๋ว ปี้มาห้วยแก้วเพราะใค่ฮู้กำฟู่กำจ๋า จิ่งเจิญน้อย
ปี้มาเปิกษา จะว่าใดจา ตั๋วข้าใค่ฮู้ อันก๋ารตี้ตั้ว
ปี้มาฟู่ฮู้ จะฟู่เป๋นจู๊หรือว่าเป๋นเมีย หรือจักลบล้าง
ลืมลายหายเสีย บ่เอาเป๋นเมีย จะทิ้งเสียแล้ว หรือจักเอาเป๋น เมียนางจ๊างแก้ว อยู่เป๋นกู้ เตียมคิง ขอบอกแจ้ง หื้อแน่ใจ๋จริ๋ง อย่าพรางญิงนาฏ น้องเนอ
บ่จุ๊ หลอกน้อง หื้อหม่นหมองหมาง บ่ล่อลวงพราง
แม่ลาร่างแค้ว ปี้หมายเอาเป๋นเมียนางจ๊างแก้ว
บ่หื้อก้าดแก๊ว เรื่องกำสีเนห์ ก๋อนแก้วน้อง ใจ๋ยังบ่เหว
เตี้ยงสมคะเน เหมินข้าคิดเล้า จะหลอนข้าจุ๊ ยังล่ายเจ้า
ขอหื้อฟ้าผ่า หัวแม่เมียต๋าย ลูกแม่ญิง ฟู่เล่นบ่ดาย
ลูกป้อจาย ฟู่แต้บ่ปั๊ง จะหลอนนายต๋าย เป๋นไก่ตั้ง
ปี้น้อย จะต๋าย เป๋นคืน ฟู่หื้อถูก วันพูกบ่ขืน
ฟู่เมื่อคืน ตึงบ่ขืนเมื่อเจ๊า อันก๋ารฮักกั๋น กับข้าตึงเจ้า
เปรียบเหมือนเหล้า กับปาง ปากกำได ปี้ก็ตึงใฝ่อ้าง
ไจ๋บ่จ๋างจาก น้องเนอ
กั๋น ปี้น้อย บ่หมีใจ๋จ๋าง บ่ลวงพราง ฟู่แต๊เป๋นแต๊จักคิดไฉน เยียงใดไขแก้ ฟู่แต๊เอาแต๊ ตั๋นตี้บังควร หื้ออบรมมวล สันถ้วนม่วนเล้า จะหลอนปิต๋า มาดาเป๋นเจ้า
บ่ป๋งป่อยน้อง แก้วแว่นเงาใส จักคิดสันใด ขอถามปี้น้อย ขอคำจาย ไขจ๋าตอบถ้อย จักคิดสันใดดี ขอถามคำจาย ไจยายังหนี้ หื้อมันเป๋น ตี้ฮู้เน้อ
ฮัก เหลือมอก จะบอกปิต๋า หื้อป้อพญา ไปขอน้องไท้ ปี้นี้มากั่ว มันจักบ่ได้ เพราะข้าปี้ไท้ ไร้ยากข้าวของ บ่หมีเงินทอง เหมือนนันตาเงี้ยว จะหลอนเปิ้นตัด สลัดเบี่ยงเบี้ยว จักคิดสันใดดี ขอถามตั๋ว น้องนายยังหนี้ หื้อมั่นใจ๋ปี้ น้อยเนอ
ก๋าร ขอนั้น มันบ่เป๋นสัง กันใจ๋ระวัง คงได้ไฝ่เฟื้อ
จะหลอนปีต๋า มาดาบ่เอื้อ บ่ป๋งป่อยน้อง กาบซ้อนบัวจี๋ ด้วยฮ่อมตางดี บ่หมีหวังแล้ว ฝ่ายปั้นตั๋ว อนงค์น้องแก้ว จักหนีตวยปี้ ไจยา จะหลอนคำงาย ฮักข้าแปงข้า จะไปเมินเนิ่น จ๊าเนอ
บทพระนิพนธ์แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกของตัวละครทั้งน้อยไจยาและนางแว่นแก้ว
ด้านน้อยไจยาก็รู้สึกในเชิงตัดพ้อว่าแว่นแก้วจะรักตนจริงหรือไม่ ตกลงแต่งงานกับส่างนันตาจริงหรือไม่ ส่วนตนนั้นรักแว่นแก้วเหมือนเดิมแต่หากจะให้ไปขอก็คงไม่มีเงินมากเท่าส่างนันตา
ด้านนางแว่นแก้วนั้นถือว่าเป็นผู้มีจิตใจแน่วแน่ ซื่อตรงและมั่นคงในความรักที่มีต่อน้อยไจยา ไม่คิดหวั่นไหวไปแต่งงานกับส่างนันตา เหมือนกับกิ่งไม้ที่ไม่หวั่นคลอน และบอกกล่าวน้อยไจยาว่าถ้าหากรักตนก็ให้ไปสู่ขอตนกับพญาสามล้าน หากพญาสามล้านไม่ตกลงก็จะหนีตามไปอยู่กับน้อยไจยาเสีย แต่สุดท้ายแล้ว ทั้งคู่ก็ได้ครองรักกันสมความปรารถนา
ที่มาข้อมูล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สายใยรักสองแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553.
สายสวรรค์ ขยันยิ่ง.พระราชชายาเจ้าดารารัศมีกับนาฏยศิลป์ล้านนา.วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย ภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543.
ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์