พจนานุกรมฉบับราชัณฑิตยสถานปี พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของคำว่าบายศรีไว้ดังนี้ ”เครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญ ทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทงเป็นชั้น ๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปเป็นตามลำดับขั้น เป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรีและมีไข่ขวัญเสียบอยู่ยอดบายศรี มีหลายอย่าง เช่น บายศรีตอง บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่ “

คำว่าบายศรีเกิดจากการนำ 2 คำ มารวมกัน คือคำว่า “บาย” ในภาษาเขมรแปลว่า ข้าว และคำว่า ”ศรี” ในภาษาสันสกฤต แปลว่ามิ่งขวัญ สิริมงคล ซึ่งหมายความได้ว่าข้าวอันเป็นสิริมงคลหรือข้าวขวัญ โดยมากบายศรีมักใช้ในพิธีสังเวยบูชา หรือพิธีทำขวัญต่าง ๆ และจะมีข้าวสุกเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในคติของพราหมณ์มีความเชื่อว่าใบตองเป็นสิ่งที่สะอาดและบริสุทธิ์ ไม่มีมลทินของอาหารเก่าแปดเปื้อนเหมือนถ้วยชาม จึงนำมาทำเป็นภาชนะใส่อาหาร มักทำเป็นรูปกระทง ภายหลังได้มีการตกแต่งให้สวยงามขึ้น

โอกาสที่ใช้บายศรีส่วนใหญ่มักจะใช้ในการทำขวัญต่าง ๆ ที่เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เช่น การทำขวัญเดือน ทำขวัญนาค ทำขวัญแต่งงาน(นิยมในภาคเหนือและอีสาน) ทำขวัญนา ทำขวัญแม่โพสพ หรือแม้กระทั่งทำขวัญสัตว์ อย่าง วัวหรือควาย รวมไปถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน การบวงสรวงสังเวย การสมโภชต่างๆ เช่น การตั้งศาลพระภูมิ การวางศิลาฤกษ์ ฯลฯ

การที่ต้องมีพิธีทำขวัญ ด้วยความเชื่อของคนโบราณที่ว่า ร่างกายของเราทุกคนมีขวัญกำกับอยู่ เมื่อได้รับการกระทบกระเทือนก็จะตกหรือหนีหายไปจากร่างกาย ที่เรียกว่า ขวัญหนี ขวัญหาย ขวัญบิน ทำให้เจ้าของร้างกายเจ็บป่วยหรือไม่สบาย จึงต้องมีการเรียกขวัญให้กลับมาอยู่กับตน หรือพิธีต้อนรับ เป็นการรับขวัญผู้มาเยือนเพื่อความเป็นสิริมงคลก็ได้

บายศรี แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1.บายศรีของราษฎร
2.บายศรีของหลวง
ซึ่งบายศรีทั้งสองชนิดนี้ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร สามารถติดตามอ่านได้ในวันอาทิตย์หน้านะคะ

ที่มาข้อมูล : แต่งแต้ม บายศรีล้านนา เอกสารประกอบนิทรรศการ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2557.

ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์