เจ้าอินทวิชยานนท์ หรือ เจ้าอินทนนท์ (พระนามเดิม) เป็นบุตรของเจ้ามหาพรหมคำคงกับแม่เจ้าคำหล้า ผู้เป็นนัดดาของเจ้าหลวงเศรษฐีคำฟั่น และยังเป็นราชบุตรเขยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์อีกด้วยและเมื่อพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ถึงแก่พิราลัย เจ้าอินทนนท์ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอุปราชเชียงใหม่ จึงมีพระบรมราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้เป็นเจ้าอินทวิชยานนท์ ครองนครเชียงใหม่ และเสกสมรสกับเจ้าทิพเกษร

ด้านการศาสนา ในสมัยนี้ถือว่ารุ่งเรืองมาก ยังคงมีการทำนุบำรุงวัดอีกมากมาย

ด้านการศึกษา ยังคงเป็นแบบโบราณคือเรียนที่วัด จนกระทั่งมีมิชชันนารีมาประกาศศาสนาและให้การศึกษาสำหรับสตรี นั่นคือโรงเรียนดาราวิทยาลัย และโรงเรียนชาย คือโรงเรียนเด็กชายวังสิงห์คำ หรือ ปริ๊นส์รอแยลส์วิทยาลัย ในปัจจุบัน

ด้านการศาล ยังคงใช้เป็นแบบโบราณคือ เจ้าหลวงผู้เป็นเจ้าชีวิต มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินโทษในสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ล้านนาได้เข้าเป็นเมืองประเทศราชของสยาม แต่ทางสยามก็ยังคงให้สิทธิ์แก่เจ้าหลวงปกครองตนเองอย่างอิสระ แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้สยามทุก ๆ 3 ปี และในสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์เอง สยามก็เริ่มมีการปฏิรูปการปกครองแผ่ขยายมาถึงล้านนา และเรียกล้านนาว่ามณฑลพายัพ โดยส่งกรมหมื่นพิชิตปรีชากร เข้ามาปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพเป็นครั้งแรก

ด้านครอบครัว พระเจ้าอินทวิชยานนท์ มีบุตรและธิดากับแม่เจ้าทิพเกสร, แม่เจ้ารินคำ และหม่อมอื่น ๆ รวมทั้งหมด 11 ท่าน คือ
1.เจ้าน้อยมหาวัน
2.เจ้าน้อยโตน
3.เจ้าแก้วปราบเมือง
4.เจ้าน้อยขัติยะ
5.เจ้าน้อยสุริยะ
6.เจ้าแก้ว
7.เจ้าจอมจันทร์
8.เจ้าคำค่าย
9.เจ้าคำห้าง
10.เจ้าจันทรโสภา
11.เจ้าดารารัศมี

ที่มาข้อมูล
-คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่ ร่วมกับสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เจ้าหลวงเชียงใหม่. บ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน), 2539
-กู่เจ้าหลวงนครเชียงใหม่.เอกสารที่ระลึกวันพิธีสักการะกู่เจ้าหลวงนครเชียงใหม่,2552.

ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์